xs
xsm
sm
md
lg

พอช.ชี้แจงข่าวชาวบ้านสระแก้วถูกโกงเงินออมวันละบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาติ ภาระสุวรรณ
รักษาการ ผอ.พอช. ชี้แจงข่าวชาวบ้านเดือด เตรียมบุกพบผู้ว่าฯ แจ้งความร้องดีเอสไอ ถูกโกงเงินออมวันละบาท พอช.พร้อมประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวโดยนักข่าวอาสาที่ใช้ชื่อว่า konde เขียนข่าวลงใน Blog ของสื่อออนไลน์ในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มีหัวข้อข่าวว่า “ชาวบ้านเดือด เตรียมบุกพบผู้ว่าฯ แจ้งความ ร้องดีเอสไอ ถูกโกงเงินออมวันละบาท” เนื้อหากล่าวว่ามีการทุจริตในกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว โดยระบุว่า ชาวบ้าน 18 หมู่บ้าน จำนวน 1,510 คน ถูกฉ้อโกงเงินกว่า 2.6 ล้านบาท และกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวได้แจ้งว่าจะดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาหาฉ้อโกงประชาชน ในวันที่ 22 มีนาคมนี้

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีหน้าที่ในการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศ ชี้แจงว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล เป็นกองทุนสวัสดิการที่ชาวบ้านในตำบลต่างๆ รวมตัวกันจัดขึ้น เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในท้องถิ่นที่มีรูปแบบ และวิธีการที่หลากหลาย ถือเป็นการจัดสวัสดิการโดยชุมชน เพื่อชุมชน เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นระบบในปี 2547 หลังจากนั้น แนวคิดเรื่องสวัสดิการชุมชนจึงแพร่หลายไปทั่วประเทศ

“ส่วนการออม หรือการสมทบเงินเข้ากองทุนก็เป็นการออมเพื่อช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกด้วยกัน ถือเป็นการทำบุญวันละบาท แล้วนำเงินสมทบจากสมาชิกมาช่วยเหลือดูแลกัน เช่น ช่วยเหลือในยามเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุนการศึกษา การเสียชีวิต โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท ส่วนหน่วยงานภาครัฐ เช่น พอช. หรือหน่วยงานในท้องถิ่นอย่าง อบต. จะให้การสนับสนุน หรือสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อให้กองทุนเติบโต” นายสมชาติ กล่าว และอธิบายว่า เพื่อความสะดวกกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่จะเก็บเงินสมทบจากสมาชิกเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท หรือเก็บเป็นรายปีๆ ละ 365 บาท

ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 6,144 ตำบล เงินกองทุนรวม 11,608,200,062 บาท เงินกองทุนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 เป็นเงินสมทบจากสมาชิกกองทุนสวัสดิการ ส่วนที่เหลือมาจากการสมทบจากรัฐบาลผ่าน พอช. รวมทั้งการสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนอื่นๆ

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน และที่มาของปัญหา

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2549 สมาชิกแรกเข้ามี 13 คน สมาชิกประกอบด้วยชาวบ้านในหมู่ต่างๆ รวม 21 หมู่บ้าน มีคณะกรรมการมาจากทุกหมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะจัดเก็บสวัสดิการเป็นรายเดือน แล้วให้คณะกรรมการในแต่ละหมู่บ้านนำเงินส่งกองทุนฯ ทุกเดือน ซึ่งการดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบของกองทุนฯ ที่วางเอาไว้ จำนวนสมาชิกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ข้อมูลในช่วงต้นปี 2556 มีสมาชิกรวม 2,827 คน)

โดยกองทุนฯ มีระเบียบการจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิกในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.ต้องเป็นสมาชิกกองทุนฯ แล้วอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะได้รับสวัสดิการ 2.สมาชิกที่เสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 2,500-12,000 บาท ตามอายุการเป็นสมาชิก 3.เจ็บป่วยช่วยเหลือไม่เกิน 10 คืนๆ ละ 100 บาท คนเฝ้าไข้ได้ 50 บาท 4.คลอดบุตรได้เงินช่วยเหลือ 500 บาท

อย่างไรก็ตาม ระเบียบของกองทุนสวัสดิการชุมชนตาหลังใน มีความแตกต่างจากกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วไป คือ เมื่อสมาชิกลาออก กองทุนฯ จะไม่คืนเงินให้สมาชิก เพราะถือว่าเป็นการทำบุญ หรือสมทบเงินเพื่อช่วยเหลือกัน แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนตาหลังใน มีระเบียบคืนเงินให้แก่สมาชิกเมื่อลาออก ซึ่งอาจจะทำให้กองทุนมีฐานะที่ไม่มั่นคง (นับแต่จัดตั้งกองทุนฯ ในปี 2547-2556 มีสมาชิกลาออกไปแล้ว 535 ราย) ดังนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดสระแก้ว จึงได้แนะนำให้กองทุนฯ ตาหลังใน จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขระเบียบ

หลังจากนั้น ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน มีการประชุมเพื่อลดรายจ่ายของกองทุนฯ ณ ศาลาอเนกประสงค์ในตำบล โดยมีการปรับแก้ระเบียบการคืนเงินให้แก่สมาชิกที่ลาออกจากกองทุน คือ 1.หากสมาชิกที่ไม่เคยได้รับสวัสดิการ เมื่อลาออกจะคืนเงินให้ 100% แก้เป็น คืนเงินให้ 80% 2.กรณีสมาชิกเคยได้รับสวัสดิการแล้ว หากลาออกจะคืนเงินให้ 90% แก้เป็น คืนเงินให้ 50% จึงทำให้คณะกรรมการบางหมู่บ้านเกิดความไม่พอใจที่มีการแก้ไขระเบียบ และเตรียมชักชวนชาวบ้านในหมู่ต่างๆ มาลาออก

โดยในปี 2557 มีสมาชิกลาออกรวม 334 คน ต่อมา ในปี 2558 สมาชิกลาออกอีก 169 คน ซึ่งทางกองทุนฯ ก็ได้จ่ายเงินคืนให้ตามระเบียบใหม่ รวมสมาชิกที่ลาออกทั้งหมด (รวมสมาชิกที่ลาออกก่อนหน้านี้ 535 คน) จำนวน 1,030 คน รวมเป็นเงินที่จ่ายคืนให้สมาชิกทั้งหมด 1,591,744 บาท จึงทำให้เงินของกองทุนฯ ลดลง

นอกจากนั้น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ในช่วงที่ผ่านมามีรายจ่ายด้านสวัสดิการค่อนข้างสูง ทำให้สถานะของกองทุนติดลบ คือ มีรายรับรวม 5,612,346 บาท (แยกเป็นเงินออมวันละบาทจากสมาชิก จำนวน 2,675,516 บาท เงินสมทบของรัฐบาลผ่าน พอช. จำนวน 2,691,530 บาท เงินสนับสนุนจาก อบต.ตาหลังใน จำนวน 109,500 บาท และดอกเบี้ยจากการให้สมาชิกกู้ยืม จำนวน 135,820 บาท)

ขณะที่กองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ รวม 5,766,021 บาท แยกเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บป่วย ตาย รวม 3,014,255 บาท เงินกู้ 80,000 บาท สมาชิกลาออก 1,591,744 บาท คืนเงินออมผู้เสียชีวิต 200,713 บาท ค่าบริหารจัดการและอื่นๆ 879,309 บาท รวมมีรายจ่ายมากกว่ารายรับประมาณ 153,675 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากธนาคารของกองทุนฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พบว่า มีบัญชีเงินฝากรวม 3 บัญชี มีเงินเหลือรวมกันทั้งหมดเพียง 1,950.59 บาท

ต่อมา ในช่วงปลายปี 2559 คณะกรรมการบางหมู่บ้านได้พาชาวบ้านมาลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนอีกจำนวน 1,096 คน ทางกองทุนฯ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสถานะเงินกองทุนติดลบจึงไม่มีเงินจ่ายคืนให้แก่สมาชิก ประกอบกับสมาชิกที่เหลือทั้งหมดหยุดส่งเงินออมวันละบาทเข้ากองทุนฯ จึงทำให้กองทุนฯ ไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกที่ลาออกครั้งละมากๆ (สมาชิกออมเงินรวมปีละ 365 บาทต่อคน หากเป็นสมาชิกครบ 10 ปี ก็จะมีเงินออมที่ส่งเข้ากองทุนประมาณคนละ 3,650 บาท)

ขณะเดียวกัน มีคณะกรรมการบางหมู่บ้านที่มีหน้าที่เก็บเงินสมทบรายเดือนจากสมาชิกแล้วไม่นำส่งเข้ากองทุนฯ ติดต่อกันเกินกว่า 3 เดือน จึงทำให้สมาชิกขาดจากสถานภาพการเป็นสมาชิกตามระเบียบของกองทุนฯ และจะไม่ได้รับสวัสดิการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต ดังนั้น ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต จำนวน 2 คน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ รวมทั้งสมาชิกที่ลาออกแล้วยังไม่ได้เงินคืนจึงได้ร่วมกันทำเรื่องร้องเรียนขึ้นมาผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเย็น ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน มีสมาชิก จำนวน 1,164 คน มีสมาชิกที่ลาออกไปแล้วรวม 2,134 คน มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี จำนวน 1,950.59 บาท โดยขณะนี้กองทุนฯ ไม่มีการเบิกจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิกแต่อย่างใด ขณะที่สมาชิกก็ไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แต่อย่างใด

ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง “คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ล้มเหลว”

สำนักงานภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ประสานงานกับคณะทำงานสวัสดิการชุมชนจังหวัดสระแก้ว คือ นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เพื่อลงพื้นที่สอบถามเรื่องราวข้อเท็จจริงในกรณีข้อร้องเรียนการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน ที่ไม่โปร่งใส ในวันที่ 21 มกราคม 2560 ที่ผ่านโดยมีประเด็นข้อร้องเรียน ดังนี้

1.ให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุนและระบบบัญชีการเบิกจ่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน 2.การลาออกของสมาชิกไม่ได้รับเงินคืน 3.การแก้ไขระเบียบข้อบังคับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน คณะกรรมการบางท่านไม่ได้รับรู้ถึงการแก้ไขระเบียบ และ 4.กรณีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล

ขณะเดียวกัน ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเย็น ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้ทำหนังสือสรุปผลการตรวจสอบถึงกลุ่มผู้ร้องเรียนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 โดยได้ข้อสรุปว่า “คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ บริหารเงินกองทุนล้มเหลว โดยมีการใช้จ่ายเงินมากกว่าเงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่ ประกอบกับได้รับการอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลังใน เพียงแค่ครั้งเดียว ส่งผลให้ไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกที่เจ็บป่วย หรือเสียชีวิต และไม่มีเงินออมสัจจะคืนกรณีที่สมาชิกที่ลาออกครั้งละมากๆ”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากศูนย์ดำรงธรรมอำเภอวังน้ำเย็น มีอำนาจหน้าที่เพียงการแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่มีการร้องเรียนเท่านั้น อีกทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน เป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการตรวจสอบของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว ดังนั้น ศูนย์ดำรงธรรมฯ จึงได้ส่งเรื่องให้ สนง.พัฒนาสังคมฯ จังหวัดสระแก้ว ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

พอช.เน้นย้ำการบริหารกองทุนสวัสดิการให้โปร่งใส

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการ ผอ.พอช. กล่าวว่า โดยทั่วไปกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่จะไม่มีการคืนเงินให้แก่สมาชิกเมื่อลาออก เนื่องจากเป็นเงินสมทบ หรือเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนฯ เพื่อนำมาจัดสวัสดิการดูแลช่วยเหลือสมาชิก และผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ในชุมชน จึงไม่ใช่เงินออมของสมาชิกเหมือนกลุ่มออมทรัพย์ แต่ระเบียบของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตาหลังใน กำหนดให้มีการจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกเมื่อลาออก จึงทำให้กองทุนฯ ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ซึ่งเมื่อกองทุนฯ ได้แก้ไขระเบียบจึงทำให้คณะกรรมการ และสมาชิกบางส่วนไม่พอใจจึงขอลาออก แต่เนื่องจากกองทุนฯ มีสถานะการเงินที่ติดลบเนื่องจากมีรายจ่ายสวัสดิการที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้สมาชิกที่ลาออกยังไม่ได้รับเงินคืนจึงเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้นมา

“พอช.ทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้สมาชิกแต่ละกองทุนสวัสดิการชุมชนร่วมกันกำหนดระเบียบ เพื่อให้เป็นกติการ่วมกันในการบริหารจัดการกองทุนของตนเอง แต่ พอช.ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ หรือบทบาทในการกำหนดระเบียบให้กองทุนแต่ละแห่งแต่อย่างใด แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เชื่อว่าทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง พอช.ก็จะต้องร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป” นายสมชาติกล่าว

สำหรับแนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งอื่นนั้น นายสมชาติ กล่าวว่า ปกติแต่ละกองทุนก็จะต้องมีการตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่ พอช.และคณะทำงานสวัสดิการชุมชนแต่ละจังหวัดจะต้องเน้นย้ำกระบวนการทำงานเพื่อให้กองทุนต่างๆ มีความโปร่งใส เช่น 1.มีการประชุมสมาชิก เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 3 เดือน

2.มีระบบการรายงานสถานะการเงินทุก 3 เดือน การบริหารกองทุนที่ดีมีความชัดเจนทั้งคณะกรรมการ สมาชิก ทะเบียน/ข้อมูลสมาชิก ระเบียบหลักเกณฑ์ของกองทุน และระบบบัญชีการเงิน 3.มีรายงานผลการดำเนินงานประจำปี และส่งรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4.มีระบบการสอบทานและจัดสถานะความเสี่ยงของกองทุน เพื่อจัดทำแผนพัฒนากองทุน และ 5.มีแผนการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อเชื่อมโยงบรรจุแผนกับท้องถิ่น และภาคีที่เกี่ยวข้อง

“คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการระดับจังหวัด ระดับภาค ภาคีเครือข่าย และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จะต้องร่วมกันตรวจสอบกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ที่มีข้อมูลว่าอาจจะมีการบริหารงานไม่โปร่งใส เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง หากกองทุนฯ ใดเกิดปัญหาจริงก็จะต้องนำข้อมูลมาชี้แจงต่อสมาชิกกองทุนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป” รักษาการ ผอ.พอช.กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น