xs
xsm
sm
md
lg

อพท.4 รุกปั้นแบรนด์ “มรดกพระร่วง” บูมเที่ยว 3 เมืองประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - อพท.4 เร่งทำการตลาดเชิงรุก ปั้นแบรนด์ “มรดกพระร่วง” หนุนท่องเที่ยว 3 เมืองประวัติศาสตร์ “สุโขทัย-ศรีสัชฯ-กำแพงเพชร” ออกแบบเส้นทางทัวร์โชว์เต็ม ทั้งหัตถศิลป์ อาหารการกิน ดนตรี รวมถึงวัฒนธรรมความเชื่อที่มีต่อ “พระร่วง-อุลตร้าแมนของคนท้องถิ่น”

นายณัฐพงศ์ บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแผน สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.4) เปิดเผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดย อพท.4 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดเชิงรุก สำหรับการท่องเที่ยวแหล่งมรดกโลกและมรดกวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 เมืองประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก ภายใต้แบรนด์ “มรดกพระร่วง”

โดยการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงเป็นภาพรวมเดียวกัน ด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน เป็นการสร้างคุณค่าทางสังคม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ในประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสร้างรายได้ ขยายโอกาส และเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า แบรนด์ “มรดกพระร่วง” เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นแก่นแท้ของ 3 เมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรสุโขทัยร่วมกัน ได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกพร้อมกันเมื่อ พ.ศ.2534 ในชื่อ “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)

ขณะที่เรื่องราวของพระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ก็มีทั้งเรื่องเล่าปรัมปรา และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ผู้ก่อร่างสร้างเมืองด้วยหลักพระพุทธศาสนา สร้างการเกษตร การชลประทาน การคมนาคม การค้าขาย งานหัตถกรรม และลายสือไทยต้นกำเนิดรูปอักษรไทย

ดังนั้น พระร่วงสำหรับคนท้องถิ่นจึงไม่ได้เป็นเพียงกษัตริย์ราชวงศ์ แต่เป็นพระมหาธรรมราชา และเป็นบุคคลที่มีวาจาสิทธิ์ มีฤทธิ์เดช สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้ตกเป็นมรดกสืบมาถึงลูกหลานพระร่วงในปัจจุบันได้ ซึ่งเป็นความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น “ถ้าญี่ปุ่นมีอุลตร้าแมนเป็นฮีโร่ เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ของเราก็มีพระร่วงเป็นฮีโร่เช่นกัน”

นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า “มรดกพระร่วง” นอกจากความสวยงาม ความยิ่งใหญ่ ความประณีตของสถาปัตยกรรมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่งแล้ว ก็ยังมีงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่เรียกว่า “สังคโลก” เครื่องปั้นดินเผาที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งงานช่าง งานฝีมือ อาหารการกิน ถนนพระร่วง พาหนะเทียมเกวียน ประเพณีลอยกระทง ดนตรี พุทธศิลป์ และภาษาพูดที่มีสำเนียงถิ่นชัดเจน

อีกทั้งยังมีมรดกวัฒนธรรมทางความเชื่อที่เทิดทูนว่าเป็นสิ่งดี หายาก เช่น “ข้าวตอกพระร่วง” หินรูปสี่เหลี่ยมที่พระร่วงโปรยข้าวก้นบาตรลงพื้นพร้อมอธิษฐานจิตว่าขอให้สิ่งนี้จงอยู่คู่กับลูกหลาน “ปลาพระร่วง” ปลาตัวเล็กที่มีลำตัวใสจนมองเห็นก้าง “โซกพระร่วงลองพระขรรค์” ลำธารน้ำที่พระร่วงใช้พระขรรค์ฟันภูเขาให้ขาดออกจากกัน “ขนมพระร่วง” ที่หากินได้ยากทำจากข้าวเหนียวคั่วเป็นข้าวตอก และยังมีเรื่องราวความรักของ “พระร่วงกับนางคำ” ซึ่งทำให้เกิดชื่อหมู่บ้านต่างๆ หลายแห่ง พร้อมตำนานตลกๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องมาฟังด้วยตัวเอง

นายณัฐพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้คือมรดกที่บรรจุอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์เป็นเสมือนไข่แดง และมีไข่ขาวเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ นำมาสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยสรุปแบรนด์มรดกพระร่วงก็คือ ศาสตร์และศิลป์บนต้นกำเนิดแผ่นดินสยาม บ่งบอกถึงคุณค่ามรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์พระร่วง

ซึ่งทาง อพท.4 ได้วางแผนพัฒนาและออกแบบ “เส้นทางมรดกพระร่วง” ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมเสริมสร้างความน่าสนใจ ได้ความรู้ และได้สัมผัสสถานที่อ้างอิงในตำนาน เช่น กิจกรรมเดินป่าโซกพระร่วงฯ กิจกรรมตามหาข้าวตอกพระร่วงหินศักดิ์สิทธิ์

ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น คนในชุมชนก็จะมีอาชีพ และขายสินค้าได้ง่ายขึ้น รวมทั้งทำให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ และหวงแหนสมบัติ (มรดกวัฒนธรรม ความเชื่อ) มากขึ้นด้วย





นายณัฐพงศ์ บุญคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแผน สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.4)
กำลังโหลดความคิดเห็น