xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ยันแล้งนี้หนองคายไร้ปัญหา บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - ผู้ว่าฯ หนองคาย ติดตามงานโครงการส่งน้ำระบบท่อ ฝายน้ำล้น และคลองส่งน้ำ ชี้แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างถาวร ยืนยันขณะนี้หนองคายมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่ถึง 90 สถานี ทำให้ขณะนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้ง

ในช่วงเช้าของวันนี้ (17 มี.ค.) นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้ตรวจติดตามการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาวในเขตอำเภอเมืองหนองคาย เริ่มจากติดตามโครงการส่งน้ำระบบท่อที่กำลังมีการวางท่อ ซึ่งกรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานจังหวัดหนองคายเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะนี้กำลังเร่งวางท่อส่งน้ำหลักขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 นิ้ว และ 40 นิ้ว ลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 1.4 เมตร จากริมแม่น้ำโขง บ้านสีกายใต้ ผ่านบ้านสันติสุข และบ้านดงเวร รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร

โดยหลังวางท่อส่งน้ำเสร็จก็จะสร้างอาคารส่งน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำโขงส่งตามท่อให้เกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำสามารถเปิดวาวล์น้ำจากท่อจ่ายเพื่อใช้น้ำได้ทันที ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2 พันไร่ งบประมาณในการดำเนินโครงการกว่า 33 ล้านบาท แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2560 นี้


จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้ติดตามโครงการก่อสร้างฝายกั้นน้ำที่ลำห้วยสวย ที่มีการก่อสร้าง 2 แห่ง และติดตามการก่อสร้างคลองส่งน้ำที่เป็นการต่อยอดจากโครงการหินโงมโมเดล ที่จะสูบน้ำโขงมากักเก็บไว้ที่บุ่งกอก พื้นที่กว่า 1 พันไร่ โดยสามารถเก็บกับน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนแจกจ่ายในแก่เกษตรกร โครงการหินโงมโมเดลนี้ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล พื้นที่การเกษตรกว่า 2 หมื่นไร่

นายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวถึงการเตรียมการรับมือภัยแล้งของจังหวัดหนองคาย ว่า ขณะนี้ภาพรวมของจังหวัดหนองคาย ยังไม่มีการขาดแคลนน้ำ ทางจังหวัดได้มีการบริหารจัดการน้ำให้มีประโยชน์มากที่สุด และในปีงบประมาณ 2560 นี้ ก็จะมีโครงการก่อสร้างประตูเปิด-ปิดน้ำที่บริเวณปากห้วยสวย แต่จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างหลายปี ในช่วงระยะเวลานี้จึงได้มีการก่อสร้างฝายกั้นน้ำตลอดลำห้วยสวยเป็นช่วงๆ

นอกจากนี้ยังได้มีการสูบน้ำโดยโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งจังหวัด จำนวน 90 สถานี สูบน้ำโขงขึ้นมาช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ในภาพรวมขณะนี้จังหวัดหนองคายยังไม่มีการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น