xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตจริง! มูลนิธิเพื่อนช้างเหลือเงิน 2 ล้าน รอรัฐตั้งกองทุนต่อลมหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

างสาวโซไลดา ซาลวาลา กรรมการผู้ก่อตั้ง-เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง และผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก
ลำปาง - เลขาฯ มูลนิธิเพื่อนช้างกางบัญชีเงินฝากโชว์ รับขาดทุนมาแล้ว 11 ปี วันนี้เหลือเงินก้นถุงเพียง 2 ล้าน ไม่รวมเงินค่านมช้าง-บัญชีโม่ตาลา ตอบไม่ได้อนาคตอยู่หรือไป ต้องรอกรรมการฯ ชี้ขาด

วันนี้ (16 มี.ค.) นางสาวโซไลดา ซาลวาลา กรรมการผู้ก่อตั้ง-เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง และผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของโลก เปิดเผยว่า หลังจากที่มูลนิธิฯ ดำเนินงานมาจนย่างเข้าปีที่ 26 ก็ขาดทุนมาแล้ว 11 ปี

นางสาวโซไลดากล่าวว่า ณ วันนี้มูลนิธิฯ เหลือเงินสดในบัญชีออมทรัพย์เพียง 2 ล้านบาท ไม่รวมบัญชีนมลูกช้าง-บัญชีโม่ตาลา และบัญชีฝากประจำ ซึ่งหากจะต้องนำมาใช้จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน รวม 11 ล้านบาท

“สถานการณ์ขณะนี้ดิฉันยอมรับว่าวิกฤตมาก”

นางสาวโซไลดากล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ตนจึงได้ร่างจดหมายส่งไปยัง รศ.สยาม อรุณศรีมรกต ประธานกรรมการฯ, นายสุรพล ดวงแข รองประธานกรรมการฯ, นางชุตินันท์ คล้ำบัว เหรัญญิกฯ, นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการ, นายวรินทร์ เทียมจำรัส ที่ปรึกษากฎหมาย มูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อให้เชิญประชุมพิจารณาการขาดสภาพคล่อง และหาแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ต่อไป

แต่ขณะนี้ทางคณะกรรมการยังติดภารกิจ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการนัดประชุมกันเมื่อไหร่ ซึ่งตนก็อยากให้ประชุมกันโดยเร็วเพื่อหาทางออกต่อไป

นางสาวโซไลดากล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่อยากรับบริจาคเงินจากประชาชนเพราะไม่อยากรบกวนประชาชน และสะท้อนใจทุกครั้งที่ประชาชนจะต้องมาช่วยเหลือ แต่อยากให้ภาครัฐตั้งกองทุนช่วยเหลือสัตว์ขึ้นมาให้ได้ เพื่อทางภาคเอกชนที่ทำงานด้านนี้จะได้ขอรับการสนับสนุน และจะได้ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนรายได้หลักของมูลนิธิฯ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค กรณีเงินจากต่างประเทศได้รับเพียงปีละล้านกว่าบาท ขณะที่ของที่ระลึกที่มีการนำไปจำหน่ายและสนับสนุนเงินให้นั้น มูลนิธิฯ ไม่ได้รับเป็นประจำ ขณะที่รายจ่ายหลักคือ ค่าอาหาร ยารักษาช้าง และค่าใช้จ่ายอื่น ตกประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ต้องนำเงินสำรองมาใช้ไปก่อน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ก็ต้องรับภาระเลี้ยงดูช้างป่วยที่เจ้าของไม่สามารถเลี้ยงดูได้ 5 เชือก และช้างเจ็บป่วยทั้งของชาวบ้าน-ผู้ประกอบการ ที่หมุนเวียนเข้ามารักษาในโรงพยาบาลอยู่ตลอดเวลา

นางสาวโซไลดาบอกอีกว่า มูลนิธิเพื่อนช้างก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน โดยให้บริการรักษาช้างที่เจ็บป่วย ดูแลช้างที่เจ้าของไม่สามารถเลี้ยงดูได้ ทำคลอดช้าง เลี้ยงดูแลช้าง ออกหน่วยสัตวแพทย์สัญจรทั่วประเทศ และรักษาช้างที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนมามากกว่า 2,799 เชือก/ตัว รวมทั้งดูแล-นำช้างป่วยและมารับยา 1,055 เชือก รวมแล้วกว่า 4,651 เชือก โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างใด

“ดิฉันยังตอบไม่ได้ว่ามูลนิธิฯ จะเดินไปอย่างไรหากไม่มีเงินเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน แต่ตอนนี้ก็ต้องสู้กันต่อไปให้ถึงที่สุด”

ส่วนที่บอกว่ามูลนิธิฯ อาจจะต้องยุติบทบาทนั้น เป็นเรื่องอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากมูลนิธิฯ เดินหน้าต่อไม่ได้จริงๆ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ซึ่งตนก็หวังว่าคงจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น เพราะหากยุติบทบาทลง เจ้าหน้าที่ ควาญช้าง คนงาน รวมทั้งช้างที่อยู่ในความดูแลจะทำอย่างไร ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายภาคส่วนติดต่อสอบถามเข้ามาเป็นจำนวน ตนก็ต้องขอขอบคุณทุกกำลังใจด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น