สุรินทร์ - ควาญช้างเตรียมรับมือภัยแล้ง ปลูกหญ้า และอ้อยสำรองป้องกันอาหารขาดแคลน หากช่องทางจัดสรรอาหารหลักจากโครงการนำช้างคืนถิ่น จัดอาหารให้ไม่เพียงพอ
วันนี้ (11 มี.ค.) สถานการณ์พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เริ่มก้าวเข้าสู่หน้าแล้งอย่างเต็มตัว พบว่าหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้กันบ้างแล้ว ส่วนห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ระดับน้ำเริ่มลดลงเช่นกัน ขณะที่คนเลี้ยงช้าง ควาญช้างบางรายได้เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง โดยปลูกพืชอาหารช้าง เช่น หญ้า และอ้อยสำรองในที่ดินของตัวเอง เพื่อให้ช้างมีกินเพียงพอจนผ่านพ้นฤดูแล้ง ถือเป็นการช่วยเหลือตนเองอีกด้วย นอกเหนือจากอาหารช้างที่โครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำมาให้ช้างกินแต่ละวัน
ที่บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก มีช้างที่ร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น ของโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิดของ อบจ.สุรินทร์ กว่า 300 เชือก พบว่า ควาญช้างต่างช่วยเหลือตัวเองด้วยการเตรียมพืชอาหารช้างสำรองไว้ ด้วยการปลูกหญ้า และอ้อยไว้เอง
นายลอย แสนดี อายุ 51 ปี ควาญช้างที่เข้าร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่น ของโครงการคชอาณาจักร จ.สุรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่บ้านเลขที่ 28 ม.10 บ้านปรีง ต.บะ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ควาญช้างไม่ต้องรอให้ถึงหน้าแล้ง ช่วงหน้าฝนต้องเตรียมพร้อมก่อน โดยปลูกหญ้า และพืชอื่นไว้รอเลย พอถึงหน้าแล้งจะได้ตัด วันไหนที่หญ้าไม่มา หรือมาน้อยก็ตัดหญ้าที่ปลูกให้ช้างกิน บางทีก็ซื้อหากราคาถูก
นอกจากนี้ จะมีองค์การสวนสัตว์ และ อบจ.นำมาแจกให้ แต่ก็ไม่แน่นอน 4-5 มัดต่อวัน ส่วนเรื่องน้ำมีปัญหามาก น้ำต้องไปสูบมาจากสระแล้วขนมาเอง ส่วนเงินเดือนที่ได้รับต่อเชือกอยู่ที่ 10,800 บาท ตนมีช้างอยู่ 4 เชือก และอีก 3 เชือก รับจ้างดูแลให้เขารวมทั้งหมด 7 เชือก ข้อดีคือ ไม่ต้องนำช้างออกไปเร่ร่อนตามท้องถนน