สุรินทร์ - ผู้ว่าฯ เมืองช้าง พร้อม จนท.ศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณนั่งอยู่ในไห ขุดพบในที่นาชาวบ้าน อ.ศีขรภูมิ ระบุอยู่ในยุคเหล็ก อายุราว 1,500-2,000 ปี พร้อมขุดเก็บนำไปตรวจสอบศึกษาอย่างละเอียดที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา ก่อนนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สุรินทร์
วันนี้ (8 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณนั่งอยู่ในไห ฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 3 เมตร จากการขุดแปลงยกร่องน้ำในที่นาบนพื้นที่ 5 ไร่ ของนางทวีศักดิ์ นึกดี อายุ 80 ปี บ้านเลขที่ 68 บ้านยาง ม.1 ต.ยาง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยาง ประมาณ 500 เมตร คาดว่ามีอายุหลายร้อยปี และสร้างความแตกตื่นให้ชาวบ้านพากันมาดู พร้อมนำธูปเทียนดอกไม้มากราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ทาง อบต.ยาง และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่มาเข้าเวรยามเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรอเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบอย่างละเอียด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อม ด้วย ร.ต.อ.นครินทร์ เกตุสิริ นายอำเภอศีขรภูมิ นายสมเดช ลีลามโนธรรม เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา นาย ศักดิ์นันท์ สุภวรางกูร นายก อบต.ยาง ได้เดินทางลงพื้นที่มาตรวจสอบสภาพโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่บรรจุอยู่ในไหดังกล่าว ซึ่งมีโครงกระดูกคงสภาพสมบูรณ์อยู่หลายชิ้น เช่น ฟันกราม บริเวณใกล้กันยังพบไหโบราณไม่บรรจุกระดูกขนาดเล็กและใหญ่อีก 2 ใบ
เจ้าหน้าที่ของสำนักศิลปากรที่ 12 ได้ใช้เครื่องมือขุดและเก็บโครงกระดูก พร้อมไหโบราณ ออกจากใต้ดินไปจนครบเพื่อนำไปตรวจสอบที่สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา
นายสมเดช ลีลามโนธรรม เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากร ที่ 12 นครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงกระดูกมนุษย์โบราณขุดพบที่บ้านยางตำบลยาง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ แห่งนี้ ทางสำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมาได้เดินทางมาตรวจสอบแล้ว ลงความเห็นว่า อยู่ในยุคเหล็กมีอายุราว 1,500 -2,000 ปี สมัยยังไม่มีตัวอักษร การเก็บศพลักษณะนี้เป็นการฝังครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเป็นการฝังไว้หลายปีจนเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก แล้วค่อยเก็บกระดูกชิ้นสำคัญมาบรรจุไหแล้วฝังอีกที
ทั้งนี้ เคยพบที่ อ.ท่าตูม และ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ปัจจุบันกระดูกโบราณยุคนั้นเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสุรินทร์ ครั้งนี้พบที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ซึ่งเจ้าที่กรมศิลปากรจะนำไปศึกษาแล้วนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ต่อไป