“ตลาดหนองมน” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีชื่อเสียงคู่จังหวัดชลบุรีมานานเกือบ 100 ปี โดยตลาดแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งค้าอาหารทะเลสด และแปรรูปแห่งใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักมานานแล้ว ชื่อเสียงความอร่อยของข้าวหลาม และขนมจากหนองมน รวมทั้งฮ่อยจ๊อ ชื่อดังแม้ในวันนี้ยังไม่คลายมนต์ขลัง และยังเรียกหาผู้ที่เคยลิ้มลองรสชาติให้หวนกลับมาชิม และซื้อเป็นของฝากได้อยู่ตลอดเวลา
แต่จากความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่มีปัจจัยสำคัญ มาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งการเกิดใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่พยายามสร้างจุดขายใหม่ให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และนโยบายของรัฐบาลที่พยายามส่งเสริมให้การเดินทางมายังภาคตะวันออก มีการเชื่อมโยงจากถนนสายต่างๆ นำมาซึ่งการก่อสร้างถนนสายใหม่ที่หวังลดความแออัดในเขตตัวเมือง เช่น ถนนสายเลี่ยงเมืองตลาดหนองมน ถนนทางสาย 7 มอเตอร์เวย์ ก็ทำให้นักเดินทางจำนวนไม่น้อยไม่มีโอกาสได้ผ่านมาเยือนตลาดหนองมน จากการใช้ถนนสายสุขุมวิท เช่นในอดีต
ประกอบกับการเกิดใหม่ของจุดกระจายสินค้าทั้งตลาดอ่างศิลา แหล่งพักรถ และจุดกระจายสินค้าบนถนนสายใหม่ ซึ่งนักลงทุนหันมาใช้เป็นแหล่งดึงดูดเงินตราของนักเดินทาง และนักท่องเที่ยว ด้วยการนำของฝากจากหลายพื้นที่ รวมทั้งสินค้าจากตลาดหนองมน ไปวางจำหน่ายเช่นเดียวกับการนำสินค้าจากตลาดหนองมน ไปขายในร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ห้าง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไม่ขับรถเข้ามายังตลาดหนองมนที่เริ่มมีปัญหาด้านที่จอดรถ
สอดคล้องต่อสภาพสินค้าของตลาดหนองมน ที่ไม่มีความโดดเด่น ในทางกลับกันกลับมีสินค้าจากพื้นที่อื่นๆ ถูกนำมาขายปะปนเป็นของฝาก โดยที่ผู้ประกอบการไม่คิดที่จะผลิตสินค้าเฉพาะตัวขึ้นเอง นอกจากข้าวหลามหนองมน ฮ่อยจ๊อ และขนมจาก เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหนองมน คลายความน่าสนใจลงเรื่อยๆ
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข ยอมรับว่าสถานการณ์ของตลาดหนองมน กำลังอยู่ในภาวะถดถอยแต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากปัจจัยหลายด้านที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่แวะเข้าตลาดหนองมน ทั้งที่ยอดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังชายหาดบางแสน หลังมีการจัดระเบียบสภาพภูมิทัศน์ชายหาด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านกีฬาทางน้ำ มีไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนต่อวัน และในปี 2558 ชายหาดบางแสน ยังมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากถึง 1.7 ล้านคน มียอดค่าใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยที่ 1.5 พันบาทต่อคนต่อวันอีกด้วย
“บางรายก็กล่าวอ้างว่า สาเหตุที่สินค้าในตลาดหนองมนขายไม่ดี เพราะเทศบาลฯ สร้างเกาะกลางถนนกีดกวางขวางการเดินทาง ซึ่งในความจริงแล้วเป็นผลกระทบที่น้อยมาก เพราะหากสินค้าเราดีจริงก็ย่อมจะดึงคนให้เข้ามาซื้อได้ แต่ในทางกลับกันพ่อค้าแม่ค้ากลับไม่มองถึงคุณภาพสินค้า บางครั้งเราถูกร้องเรียนว่าสินค้าไม่มีคุณภาพ เก่า และไม่เป็นไปตามราคาที่แท้จริง อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าก็ไม่มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาพัฒนา เช่นเดียวกับการบรรจุหีบห่อที่เมื่อ 20 ปีก่อนเป็นเช่นไรวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ นอกจากนั้นสินค้าที่ขายในตลาดหนองมนเกือบร้อยละ 70 ยังเป็นสินค้าที่มาจากที่อื่น”
เทศบาลเมืองแสนสุข จึงต้องหาแนวทางในการหยุดยั้งวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการจับมือกับ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แก้โจทย์เรื่องความอยู่รอดเพื่อให้ตลาดหนองมน กลับมาเป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
นายณรงค์ชัย บอกอีกว่า ปัจจุบันตลาดหนองมน มีร้านค้าทั้งที่อยู่ในตลาด และกระจายอยู่โดยรอบแนวถนนสุขุมวิทไม่น้อยกว่า 500 ร้าน ซึ่งการมอบหมายให้องค์กรที่มีองค์ความรู้เข้ามาบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาก็เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบรรจุหีบห่อในแบบเดียวกันของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความแตกต่าง ภายใต้แนวคิดที่สร้างสรรค์
ด้าน ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า หลังได้รับโจทย์จากเทศบาลฯ ก็ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก จัดตั้งทีมเซลแมน ที่มีทั้งนิสิต และคณาจารย์ของวิทยาลัยฯ ออกเป็น 60 ทีมๆ ละ 3 คน ทำหน้าที่ขายสินค้าให้แก่ร้านค้าจำนวน 20 ร้านที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ที่จะต้องยอมรับการพัฒนารูปแบบหีบห่อสินค้าเพื่อสร้างความดึงดูดใจ
“เบื้องต้นเราได้รับความอนุเคราะห์จาก คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มอบเงิน จำนวน 2 แสนบาท ให้เป็นกองทุนสำหรับนิสิตได้ใช้เป็นทุนในการเลือกซื้อสินค้าร้านค้า 20 ร้าน นำมาบรรจุหีบห่อใหม่ที่สวยงามสะดุดตา เพื่อนำไปวางขายให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อรับประทานตามร้านค้า และร้านอาหาร สร้างแรงจูงใจให้การที่จะไปซื้อที่ต้นตอ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำให้คนกลับไปซื้อที่ร้านนั้นๆ ขณะที่ผู้ค้าก็จะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีชลบุรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกระจายสินค้าควบคู่ไปด้วย”
แนวทางที่ 2 คือ การจุดประกายให้แก่ผู้ประกอบการมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นสู้ ด้วยการนำผู้ที่เคยล้มเหลวในการทำธุรกิจ และกลับมาประสบความสำเร็จ มาถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการบอกเล่าในรูปแบบหนังสั้น
3.แนวทางระยะยาว คือ ดึงคนกลับมาเยือนตลาดหนองมน ด้วยการประสานหน่วยงานท่องเที่ยวและบริษัททัวร์ทั้งใน และต่างประเทศ ให้บรรจุตลาดหนองมนในโปรแกรมท่องเที่ยว เพื่อกำหนดจุดแวะพักเหมือนการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่ไกด์ทัวร์จะนำนักท่องเที่ยวเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ ที่กำหนดไว้
“จากนั้นเราจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นระยะ และในระยะแรกเราจะทำข้าวผัดที่อร่อยที่สุดของชลบุรี ที่มีทั้งสับปะรด โรยหน้าด้วยปลากรอบ ปลาหมึกหรือสินค้าที่เป็นของตลาดหนองมนโดยแท้ ให้นักท่องเที่ยวรับประทานฟรี และเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้ตลาดหนองมน กลับมาคึกคักอีกครั้ง” ผศ.ดร.บรรพต กล่าว