xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโรงไฟฟ้าแกลบ 820 ล้านสุโขทัย-วิศวกรพาทัวร์ ยันใช้ระบบดีสุดในโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - วิศวกรพาทัวร์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ)สุโขทัย มูลค่า 820 ล้านบาท ยืนยันไร้มลพิษ-ไม่แย่งน้ำชาวบ้านชัวร์ ใช้เทคโนโลยีเยอรมนี-ญี่ปุ่น แถมดักฝุ่นด้วยระบบทันสมัยสุดในโลก ขายไฟราคาเดียวยาว 16 ปีไม่มีขึ้น บอกถ้าปล่อยน้ำเสีย-ถูกสั่งปิดขาดทุนวันเป็นล้าน ไม่คุ้มแน่



วันนี้ (3 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกลุ่มชาวบ้านออกมาคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) กำลังการผลิต 9.60 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ 4 ต.ตาลเตี้ย อ.เมือง จ.สุโขทัย เพราะกลัวผลกระทบที่อาจมีตามมา ทั้งเรื่องฝุ่น ควัน น้ำเสีย การขาดแคลนน้ำใช้ อุบัติเหตุ และการจราจร ฯลฯ พร้อมมีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.สุโขทัย

ล่าสุดนายบัญชา จันทร์สุวรรณ วิศวกรโครงการฯ บริษัท ก้าวหน้า เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้เป็นตัวแทนออกมาชี้แจงข้อมูล พร้อมนำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล (แกลบ) ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนบายพาส สายสุโขทัย-ตาก หมู่ 4 ต.ตาลเตี้ย อ.เมืองสุโขทัย เนื้อที่เกือบ 80 ไร่ รอบบริเวณเป็นทุ่งกว้าง ด้านหลังใกล้ “หนองแดง” แหล่งน้ำขนาดใหญ่

นายบัญชากล่าวว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 820 ล้านบาท เป็นค่าเครื่องจักร 500 ล้านบาท มีการแบ่งสัดส่วนที่ดินเป็นพื้นที่ตั้งเครื่องจักร 5 ไร่ โกดังเก็บเชื้อเพลิง 5 ไร่ ขุดบ่อน้ำดิบความลึก 10 เมตร 30 ไร่ บ่อตกตะกอนความลึก 5 เมตร 5 ไร่ ลานจอดรถบรรทุก 10 ไร่ และออฟฟิศ ห้องพักพนักงาน โรงอาหาร รวมอีก 2 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียวเอาไว้ปลูกต้นไม้

สำหรับข้อกังวลในเรื่องปัญหาฝุ่นควัน นายบัญชาชี้แจงว่า ทางบริษัทฯ เตรียมใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดจากประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น รวมทั้งใช้ระบบดักฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) มูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก เพื่อป้องกันฝุ่น และกลิ่นที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่ให้ฟุ้งกระจายออกไปในอากาศ

ขณะที่โกดังเก็บเชื้อเพลิงก็เป็นระบบปิด รถบรรทุกขนส่งก็ต้องใช้ผ้าใบคลุมมิดชิด และไม่จอดต่อคิวกันข้างถนนให้เสี่ยงเกิดอันตรายเพราะมีลานจอดกว้างขวาง

ส่วนข้อกังวลเรื่องน้ำ ทางโรงไฟฟ้าฯ ก็มีการขุดบ่อน้ำกักเก็บไว้ใช้เองอย่างเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องไปแย่งน้ำจากแหล่งน้ำชุมชนมาใช้ และปัญหาน้ำเสียก็ไม่เกิดขึ้น เพราะมีระบบบ่อพัก บำบัด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่

“ถ้ามีการลักลอบปล่อยน้ำทิ้งออกไปนอกพื้นที่ชาวบ้านก็สามารถสังเกตเห็นได้ หากเกิดการร้องเรียนโรงไฟฟ้าก็จะถูกสั่งหยุดชั่วคราว ทำให้ต้องขาดทุนวันละเกือบ 1 ล้านบาท มันไม่คุ้มค่ากัน”

นายบัญชากล่าวอีกว่า สถานที่เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่หมู่ 4 ต.ตาลเตี้ย อยู่ติดถนน 4 เลน เป็นทางเลี่ยงเมืองสุโขทัย อยู่ห่างชุมชน ส่วนรถบรรทุกจะวิ่งขนแกลบวันละ 6-10 คัน เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงวันละ 200 ตัน แกลบทั้งหมดล้วนเอามาจากในพื้นที่สุโขทัย ซึ่งมีการทำนาข้าวปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 400,000 ไร่ จึงทำให้มีแกลบที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก

นายบัญชาบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 176 แห่ง รวมถึงจังหวัดตาก พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ แพร่ และพิษณุโลก ซึ่งของสุโขทัยนี้ นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างก็จะทำให้เกิดการจ้างงาน เมื่อสร้างเสร็จก็ต้องรับชาวบ้านในพื้นที่ 70-80 คน เข้าทำงานด้วย ส่วนท้องถิ่นก็มีรายได้จากภาษีเพิ่มอีกปีละ 4-5 ล้านบาท รวมทั้งเก็บภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ได้อีกปีละ 500,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผ่านหน่วยงาน กกพ. 700,000 บาท/ปี และทางบริษัทฯ ยังตั้งกองทุนให้อีกปีละ 700,000 บาท เพื่อใช้พัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งมีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับคนในชุมชน การตรวจวัดคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำในโรงไฟฟ้า และแหล่งน้ำของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ส่วนขี้เถ้าของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีระบบจัดการป้องกันไม่ให้ฟุ้งกระจาย ก็จะนำมาใช้ทำอิฐมอบให้เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือคนในชุมชนจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองก็ได้

“บริษัทฯ มีการทำสัญญาซื้อขายไฟเป็นราคาเดียว 16 ปี ไม่สามารถอ้างเหตุผลใดเพื่อขอขึ้นราคาได้ ผู้ใช้ไฟจึงไม่ต้องกังวลว่าจะจ่ายค่าไฟแพงขึ้น รวมถึงขั้นตอนดำเนินโครงการก็ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง อยากวิงวอนให้ผู้คัดค้านเปิดใจรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง และไปศึกษาดูงานให้เห็นกับตาด้วยกันว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร” นายบัญชากล่าว

โอกาสนี้ เจ้าหน้าที่บริษัทยังได้นำผู้สื่อข่าวเข้าศึกษาดูงานที่บริษัท พิจิตรไบโอเพาเวอร์ จำกัด ต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ทางบริษัท ก้าวหน้า เอ็นเนอร์ยี จำกัด จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการก่อสร้างที่ ต.ตาลเตี้ย อ.เมืองสุโขทัย เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย และดีที่สุด รวมถึงมีระบบบริหารจัดการที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขอีกด้วย



















นายบัญชา จันทร์สุวรรณ วิศวกรโครงการฯ บริษัท ก้าวหน้า เอ็นเนอร์ยี จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น