xs
xsm
sm
md
lg

ขายดิบขายดี ผักแลกค่าเทอม ม.แม่โจ้ พ่อค้า-ร้านอาหารขอซื้อถึงที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - ประสบผลสำเร็จงดงาม “โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม-ม.แม่โจ้” หลัง นศ.เกือบ 500 คนเข้าร่วมปฏิบัติจริงตั้งแต่ต้นเทอม 2 ปีการศึกษา 59 พร้อมนำผลผลิตออกขาย ล่าสุดประชาชน พ่อค้า ผู้ประกอบการร้านอาหารตามซื้อถึงมหาวิทยาลัย

วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์-นักศึกษา ได้เปิดแถลงข่าวที่โดมออร์แกนิก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกี่ยวกับ “โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม” ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคณะ และทุกชั้นปีเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีนักศึกษาทั้ง 12 คณะของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 487 คน เข้าร่วมโครงการปฏิบัติจริงต่อเนื่องจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

โดยมีการแบ่งพื้นที่สำนักฟาร์ม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ให้นักศึกษาในการปลูกผัก ทั้งผักกาด ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักสลัด หรือเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา พร้อมทั้งแปรรูปขาย เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งเงินรายได้จากการขายพืชผล และเลี้ยงสัตว์ ก็จะนำมาเป็นค่าเทอม หากเหลือก็เก็บสะสมไว้เป็นค่าเทอมในชั้นปีต่อไปจนกว่าจะจบการศึกษา

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดเผยว่า เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็ไม่ต้องเป็นหนี้เหมือนกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ที่จบไปมีงานทำจะต้องใช้หนี้คืน แต่โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสะสมระหว่างภาคเรียนจะถูกหักเป็นค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาต่อไป นักศึกษาจึงไม่มีสถานะเป็นลูกหนี้เหมือนกองทุนฯ และยังมีการเปิดตลาดรองรับจำหน่ายผลผลิตด้วย เป็นการสร้างคน สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืน ตามรอย “กษัตริย์เกษตร รัชกาลที่ ๙”

สำหรับผลผลิตจากโครงการนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผลผลิตสด และผลผลิตแปรรูป ซึ่งมีการนำออกวางจำหน่ายที่ “กาดแม่โจ้ 2477” ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จะเปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ โดยเริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงการจัดงานตามรอยพ่อ “กษัตริย์เกษตร” วันที่ 19-25 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา

“ถือว่าโครงการประสบผลสำเร็จมาก ที่ผ่านมามีประชาชน พ่อค้ามาซื้อพืชผักที่นักศึกษาปลูกตามโครงการนี้ถึงมหาวิทยาลัยฯ วันนี้ก็มีผู้ประกอบการร้านอาหารมาติดต่อซื้อถึงที่เลยทีเดียว”

นายเมธพล สวนวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะผลิตกรรมการเกษตรพืชไร่ ที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า เป็นสิ่งที่ดีมาก ที่ทางสถาบันส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ปกครองด้วย รวมทั้งได้นำองค์ความรู้ในห้องเรียนไปใช้ปฏิบัติจริง ซึ่งตนเองได้ที่ดินประมาณ 50 ตารางวาในการปลูกพืชผักตามโครงการนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น