ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา เปิดแถลงข่าวหลัง นสพ.บางฉบับตีข่าวสภามหาวิทยาลัยฯ สั่งปิดหลักสูตรระดับ ป.เอก จนสร้างความวิตกกังวลต่อนิสิตปัจจุบัน ชี้ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นเพียงการให้วิทยาลัยฯ หยุดรับนิสิตใหม่ในระดับ ป.เอก เพื่อเร่งรัดงานวิจัยให้แล้วเสร็จทั้งหมดก่อน
เย็นวานนี้ (25 ก.พ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุม 603 วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ หลังพบว่า มีหนังสือพิมพ์บางฉบับเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเกี่ยวกับคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกของวิทยาลัยฯ จนส่งผลต่อจิตใจของนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน รวมทั้งคณาจารย์ และบุคลากรของวิทยาลัยฯ
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องการตรวจสอบ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัย ที่มี รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง เป็นประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพา และมี รศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุลธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นกรรมการนั้น ถือเป็นการปฏิบัติตามบทบาทและหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย
ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการนำเสนอข้อมูลของสื่อบางฉบับที่กล่าวอ้างว่า วิทยาลัยฯ ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา ให้ปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร จนสร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมภายนอก เนื่องจากการเขียนว่าถูกปิดหลักสูตรหมายถึงหลักสูตรไม่มีแล้ว จึงทำให้นิสิตที่กำลังเรียนรายวิชา และอยู่ระหว่างทำวิจัย เกิดความวิตกกังวล และยังทำให้คณาจารย์ของวิทยาลัยฯ ต้องตอบคำถามในวงกว้าง
“ขอยืนยันว่า หลักสูตรปริญญาเอกทั้ง 3 หลักสูตร มีการขออนุญาตถูกต้องตามลำดับ และได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็ได้รับทราบแล้ว เพียงแต่ในปี 2559 เป็นการยืนยันเสนอตามรอบที่ครบ 5 ปี และมีขั้นตอนดังนี้
คือ คณะกรรมการกลั่นกรองของมหาวิทยาลัยฯ เห็นว่าดีแล้วชอบแล้วจึงเสนอต่อสภาวิชาการที่มีท่านอธิการบดี รศ.ดร.สมนึก นั่งเป็นประธาน และผมก็ได้รับโทรศัพท์จากท่านอธิการบดีว่า สภามหาวิทยาลัย เพียงแต่มีมติให้หยุดรับนิสิตในระดับปริญญาเอก ซึ่งก็อาจเนื่องมาจากนิสิตในระดับปริญญาเอกในทุกชั้นปีทั้งที่กำลังศึกษารายวิชา และอยู่ระหว่างทำวิจัยมีมากกว่า 100 คน ท่านจึงเกรงว่าจะเกิดการสะสม จึงต้องให้หยุดรับก่อน และในจุดนี้เราพร้อมที่จะปฏิบัติตามไม่ใช่เป็นการปิดหลักสูตรแต่อย่างใด”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต ยังเผยอีกว่า ปัจจัยอีกประการที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันก็คือ ในปี 2559 มหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดให้วิทยาลัยฯ ปรับปรุงหลักสูตร จึงทำให้ต้องมีการยื่นหลักสูตรเข้าพิจารณาใหม่ภายใต้แบบฟอร์มที่ไม่เหมือนเดิม เนื่องจากแบบฟอร์มของมหาวิทยาลัยฯ ที่รายงานในระบบให้กรอกผลงานวิจัยของอาจารย์เพียง 3 ท่าน ส่วนท่านที่ 4-5 ไม่ต้องกรอกผลงาน จึงอาจถูกมองว่า วิทยาลัยฯ จัดทำหลักสูตรไม่ชัดเจน จนเป็นข้อกังวลของผู้บริหาร และต้องการให้เร่งรัดงานวิจัยให้แล้วเสร็จให้หมดก่อนที่จะเปิดรับใหม่
ทั้งนี้ วิทยาลัยฯ มีการจัดทำคุณภาพทางวิชาการอย่างเต็มกำลัง ทั้ง 1.กระตุ้นและสนับสนุนนิสิตปริญญาเอก ให้เขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ หรือนำเสนอในเวทีวิชาการทุกคนทุกหลักสูตร 2.จัดประชุมวิชาการระดับชาติปีละ 2 ครั้ง ระดับนานาชาติปีละ 2 ครั้ง และยังร่วมมือกับคณะวิชาในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้นิสิตได้มีประสบการณ์ 3.มีวารสารทางวิชาการชื่อ “วารสารวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ บูรพาปริทัศน์” ที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI ฐาน 1 ซึ่งมีมากกว่า 200 ฉบับ และวารสารของวิทยาลัยฯ ยังมีคนอ่านเป็นอันดับ 7 ใน 10 อันดับแรก 4.วารสาร Journal of Global Business Review อยู่ในฐานข้อมูล TCI ฐาน 2
“หลังจากนี้คงต้องรอให้สภามหาวิทยาลัยบูรพา จัดประชุมเพื่อลงมติเป็นรายลักษณ์อักษรว่าจะให้เราดำเนินการอย่างไร และจะให้หยุดรับนักศึกษากี่ปี อย่างไรก็ดี เรามีความพร้อมที่จะพัฒนาหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้นตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ และก็ยังดีใจที่ในวันนี้ได้รับการยืนยันจากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันว่า มั่นใจต่อระบบการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีศิษย์เก่าท่านหนึ่งจากหลายๆ ท่านได้โทรศัพท์มาบอกว่า ได้รับรางวัล CEO แห่งชาติ โดยได้นำความรู้ที่เรียนไปใช้ในฐานะฝ่ายบริหารเบอร์ 1 ในภาคคนไทยของบริษัทจากประเทศเกาหลีอีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต กล่าว