อุบลราชธานี - ชาว อ.ม่วงสามสิบ อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นหาเลี้ยงชีพหน้าแล้ง หลังไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ ออกหาจับแมลงกระชอน หรือแมงจิซอน ทำอาหารและขายสร้างรายได้ ส่วนเกษตรกรที่เคยปลูกมันสำปะหลังผันตัวปลูกต้นปอเทือง พืชทนแล้งเก็บเมล็ดส่งขายราคาสูงกว่าข้าวเปลือกถึง 3 เท่าตัว
ช่วงหน้าแล้งพื้นที่ จ.อุบลราชธานี หลายแห่งไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลเกษตรได้ โดยการปรับตัวชาวบ้านหนองเมือง ต.หนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ช่วยกันหาแมลงกระชอน หรือแมงจิซอน ในภาษาอีสาน ที่มีลำตัวเป็นสีน้ำตาลยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ขุดรูอยู่ใต้ดินใกล้แหล่งน้ำหรือพื้นที่เกษตรกรรมที่น้ำเริ่มแห้ง เพื่อนำแมลงชนิดนี้ไปประกอบอาหารและขายสร้างรายได้ช่วงหน้าแล้ง หลังไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ เนื่องจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มแห้งขอด
นางลำไย แนบชิด อายุ 37 ปี เกษตรกรบ้านหนองเมือง หมู่ 12 ต.หนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ กล่าวว่า หลังฤดูการทำนาปีและแหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มลดลง ก็จะชวนกันออกมาจับแมงจิซอนตามอ่างเก็บน้ำที่กำลังแห้งตั้งแต่เช้าถึงสาย เพื่อนำไปประกอบอาหารเลี้ยงครอบครัว ประเภทคั่วและทำเป็นป่นแมงจิซอน หากวันไหนจับแมงจิซอนได้มาก 400-500 ตัว ก็แบ่งขายในราคา 100 ตัวต่อ 30 บาท ซึ่งช่วงนี้ยังมีให้จับสร้างรายได้ให้ลูกหลานไปโรงเรียนวันละ 100-200 บาท
ด้านนางฉวี บรรพบุตร เกษตรกรบ้านหนามแท่ง ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต้องปรับตัวหลังประสบปัญหาภัยแล้งและราคาพืชผลหลายชนิดตกต่ำ โดยหันมาปลูกปอเทืองพืชตระกูลถั่วที่ใช้น้ำน้อย ทนความแห้งแล้งได้ดี เพื่อขายเมล็ดแทนการทำนาปรัง หรือปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งต้องใช้น้ำเลี้ยงจำนวนมาก
สำหรับเมล็ดปอเทืองขณะนี้มีราคารับซื้อสูงถึงกิโลกรัมละ 40 บาท สูงกว่าราคาข้าวเปลือกถึง 3 เท่าตัว และใช้เวลาปลูกนานประมาณ 4 เดือนเท่ากัน โดยหลังหว่านเมล็ดแล้วไม่ต้องใช้น้ำเลี้ยง ใช้เพียงความชื้นในดินก็เพียงพอทำให้ต้นเจริญเติบโต จนสามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดขาย จากนั้นให้ไถกลบต้น ก็จะกลายเป็นปุ๋ยสดใช้เพาะปลูกข้าวนาปี หรือพืชชนิดอื่นต่อไปได้ดีด้วย