น่าน - คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดูงาน-เปิดเวทีประชุมร่วมภาคประชาสังคมน่าน รับฟังความคิดเห็นกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญนานกว่า 4 ชม. เล็งลิงก์ขึ้นเว็บทุกส่วนราชการให้ประชาชนเข้าถึง-แสดงความเห็นก่อน วางแนวทางการศึกษาใหม่เน้นให้คนเรียนที่ถนัด-ชอบ-ประกอบอาชีพได้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยคณะกรรมการร่างฯ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อศึกษาดูงาน และประชุมร่วมกับประชาคมจังหวัดน่าน วานนี้ (20 ก.พ.) ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลน่าน โดยมี นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน, ตัวแทนภาคส่วนทั้งด้านกฎหมาย สังคม ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาภาคเอกชน นักพัฒนาชุมชน ภาคส่วนราชการและจิตอาสา ร่วมหารือ
ที่ประชุมใช้เวลาหารือกันนานกว่า 4 ชั่วโมงในประเด็นกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ และข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริบทพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาในการออกกฎหมายประกอบ รธน.10 ฉบับ
นายมีชัยกล่าวว่า หลังรับฟังข้อมูลและข้อเสนอความคิดเห็นแล้ว พบว่าจังหวัดน่านมีปัญหาด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง และเป็นพื้นที่ป่าสงวน ป่าอุทยานฯ ทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชน ต้องมีการบูรณาการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากมีกฎหมายหลายฉบับ หลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกัน
ข้อบัญญัติท้องถิ่น อบต.น้ำแก่น อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งมีการผลักดันจนมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่แสดงความมีตัวตนของชุมชน ท้องถิ่น ที่ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ยังรับความคิดเห็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจะจัดให้การออกกฎหมายแต่ละฉบับต้องนำขึ้นเว็บไซต์ของคณะกรรมการร่างฯ และให้ลิงก์กับเว็บไซต์ของทุกส่วนราชการ เพื่อเปิดกว้างในการเข้าถึงของประชาชน และเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และมีการระบุในกฎหมายประกอบร่าง รธน.ถึงแนวทางการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้มากที่สุด
และอีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการศึกษา ที่คณะกรรมการฯ เน้นคือเป้าหมายในการสร้างคนให้มีวินัย และต้องได้เรียนในสิ่งที่ถนัด-ชอบ ซึ่งที่ผ่านมาการศึกษาเน้นไปที่เรียนให้จบโดยไร้จุดมุ่งหมายของอาชีพในอนาคต ทำให้เมื่อจบออกมาจึงไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตรงตามที่เรียน
“ประเทศไทยยังขาดแรงงานฝีมือจำนวนมาก จำเป็นต้องออกกฎหมายการศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นที่ความชอบ ความสนใจ และความถนัดของตัวผู้เรียน”
นายมีชัยย้ำว่า อย่างไรก็ตาม การมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ถือว่าได้ข้อมูลและแนวคิดที่เป็นประโยชน์เพื่อคณะกรรมการร่างฯ จะนำไปพิจารณาในการออกกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ