กาฬสินธุ์ - นายอำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้องให้ดีเอสไอ-ปปง.ร่วมตรวจสอบปัญหาชาวบ้านถูกตุ๋น 60 ล้านบาท ระบุเป็นการตรวจสอบเส้นทางการเงิน สาเหตุสถาบันการเงินและธนาคารออมสินเป็นนิติบุคคล ขณะที่ผู้เสียหายชี้ถูกหลอกแม้แต่คนพิการยังได้ตังค์
ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านอำเภอท่าคันโท 265 คน เรียกร้องให้ตรวจสอบสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ตำบลท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอ้างว่าถูกหลอกให้กู้เงินจากธนาคารออมสินสาขาท่าคันโท ที่หลงเชื่อว่าจะได้รับค่าตอบแทนคนละ 10,000 บาท แต่อ้างว่ากลับปรากฏว่าการเซ็นสัญญามอบอำนาจมีการนำไปทำนิติกรรมกับธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้รายละ 200,000 บาท
ที่ผ่านมาทั้งหมดยังได้แจ้งความดำเนินคดีสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ฐานฉ้อโกงประชาชน และชาวบ้านบางคนอ้างว่า รายชื่อค้ำประกันเงินกู้ยังไม่ตรงกับชื่อที่ตนเองรู้จัก
ล่าสุดวันนี้ (20 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ที่ว่าการอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ นายพลานุภาพ ธพรคำแพทย์ นายอำเภอท่าคันโท พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม และยังมีเจ้าหน้าที่จากธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท รวม 5 คน ได้เปิดรับตรวจสอบเอกสารซึ่งชาวบ้านได้นำมายืนยันและระบุนิติกรรมสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้เสียหายรายละ 200,000 บาท ผ่านสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 กับ ธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท ว่าทั้งหมดมีการมอบอำนาจจริง และส่วนใหญ่รู้ว่าจะมีเงินเข้าบัญชีรายละ 200,000 บาท เป็นลักษณะการจับกลุ่ม 3 คน หมุนเวียนกันค้ำประกัน แต่จะได้รับค่าตอบแทนรายละหนึ่งหมื่นบาท
ส่วนเงิน 190,000 บาท ก็จะนำไปร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ทั้งนี้ รวมจำนวนผู้เสียหายจำนวน 265 ราย เป็นเงิน 50,350,000 บาท แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประเมินว่าอาจจะมีผู้เสียหายในครั้งนี้มากกว่า 800 คน แต่ยังไม่มาแจ้งความและแสดงตัวมีเพียงการเข้ามาสอบถาม
นายพลานุภาพ ธพรคำแพทย์ นายอำเภอท่าคันโท กล่าวว่า กรณีดังกล่าวการตรวจสอบยังเกิดเฉพาะที่สถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 แห่งเดียวก่อน เบื้องต้นตามจำนวนการแจ้งความจำนวน 265 คน เพื่อความสะดวกจึงได้เปิดโต๊ะรับเรื่องและตรวจเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท เข้าร่วมจำนวน 2 คน รวมเจ้าหน้าที่เป็น 5 คน ปัญหาจะเหมือนกัน โดยอ้างว่าถูกหลอกโดยอาศัยเงินจูงใจรายละ 1 หมื่นบาทในการเซ็นมอบอำนาจ เพื่อให้สถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ไปทำนิติกรรมการกู้เงินกับธนาคาร ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าผู้ค้ำของตนเป็นใคร ซึ่งก็เข้าใจว่าอาจจะเป็นการจับกลุ่ม 3 คน แล้วทำการหมุนเวียนเอกสารเป็นการค้ำประกัน
กรณีนี้ หากตรวจเฉพาะเอกสารจนไปสู่เส้นทางการเงินของธนาคารออมสินนั้น ทุกรายนิติกรรมสัญญาถูกต้องทั้งหมด มีผู้กู้ผู้ค้ำ แต่สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตนั้นคือการปล่อยกู้เงินระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ว่าทำไมถึงได้เชื่อว่าชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถชำระหนี้ให้กับทางธนาคารได้ จึงต้องขอทำความเข้าใจต่อขั้นตอน ซึ่งในส่วนทางอำเภอท่าคันโทจะถนัดในเรื่องทางปกครอง แต่ไม่เข้าใจระบบเส้นทางการเงิน
“หากมูลค่าความเสียหายจริงมากถึงขนาดนี้ ก็คงต้องเรียกร้องให้ดีเอสไอ และ ปปง.เข้ามาร่วมตรวจสอบ เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความรู้จากเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง” นายพลานุภาพกล่าว
นายอำเภอท่าคันโทกล่าวว่า เบื้องต้น 265 รายที่มีปัญหาจะถูกตรวจสอบคัดกรอง ว่าถูกหลอกจริงหรือไม่ ในส่วนสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเงินจำนวนกว่า 50 ล้านบาท ได้นำไปดำเนินการอะไร ที่จะต้องมีบัญชีชัดเจน ในส่วนของการดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงที่ทราบว่าตำรวจ สภ.ท่าคันโท ได้รับเป็นคดีได้ ก็คงจะต้องดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้เข้าตรวจสอบในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.นาตาล อ.ท่าคันโท โดยนางจันทร์ กรไชยา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ได้เข้าไปใช้บริการกับสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ระบุว่า เฉพาะครอบครัวนี้ได้เข้าไปร่วมกับสถาบันการเงินดังกล่าว จำนวน 5 คน ประกอบด้วย แม่ ลูกสาว ลูกชาย ลูกเขย และหลาน จากการชักชวนของ กรรมการสถาบันการเงินชุมชนบ้านท่าคันโท หมู่ที่ 9 ซึ่งก็มีลักษณะการทำนิติกรรมเหมือนกัน คือเซ็นเอกสาร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารมอบอำนาจ เพื่อแลกกับค่าตอบแทนรายละ 1 หมื่นบาท แต่ยอมรับว่ารู้ว่าเอกสารดังกล่าวจะไปกู้เงินจากธนาคารออมสินฯ
นางจันทร์กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดจากการชักชวนว่าธนาคารออมสินจะมีการปล่อยกู้แต่ต้องกู้ผ่านสถาบันการเงินฯ หากมีการเซ็นมอบอำนาจก็จะให้คนละ 1 หมื่นบาท ส่วนเงินอีก 190,000 บาทก็จะนำไปลงทุนและรับผิดชอบโดยสถาบันการเงินชุมชนฯ แต่เมื่อเกิดปัญหาทำให้ครอบครัวเดือดร้อนมาก เพราะได้กู้ไปจำนวนรวม 1 ล้านบาท แม้แต่ลูกที่พิการก็ยังกู้ได้ เพียงมีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยไม่ต้องมีเงินเดือน แต่เพียงมีบัตรประชาชนเป็นคนท่าคันโท จึงขอให้ผู้มีอำนาจเข้ามาช่วยเหลือและตรวจสอบเพราะเชื่อว่าถูกฉ้อโกงกันทุกคน
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่สำนักงานธนาคารออมสิน เขตกาฬสินธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในธนาคารออมสิน ถนนภิรมย์ สาขากาฬสินธุ์ แยกน้ำพุ เพื่อขอพบกับนายวิชัย จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เขตกาฬสินธุ์ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่อยู่ เนื่องวันนี้ ทั้งผู้อำนวยการเขตฯ และผู้จัดการธนาคารออมสินทุกสาขาใน จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าไปประชุมด่วนที่ กทม.เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้จึงไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารออมสินก็พร้อมที่จะแถลงผลปัญหานี้ทันที โดยเป็นหน้าที่จากส่วนกลางในการให้ข้อมูล
ด้าน พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าคันโท และพนักงานสอบสวนรับเป็นคดีฉ้อโกงเรียบร้อย ผู้เสียหายสามารถเข้าไปแจ้งความได้ เบื้องต้นได้ทยอยเข้าแจ้งความแล้วจำนวน 80 ราย แต่เนื่องจากคดีซับซ้อนได้สั่งการให้ พ.ต.อ.โสภณ วารี รอ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นำพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมติดตามคดี โดยจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่