xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายตามรอยในหลวง-จิตอาสาเร่งสำรวจ เตรียมขุดลอกฝายชะลอน้ำฟื้นดอยสุเทพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายตามรอยในหลวง และจิตอาสาเชียงใหม่ยกทีมเดินป่าสำรวจสภาพพื้นที่และลำน้ำห้วยแก้วที่ไหลลงมาจากยอดดอยสุเทพ เก็บข้อมูลวางแผนเตรียมพร้อมขุดลอกตะกอนทรายและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำอีก 60 ฝาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ และคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า หลังปี 2559 ระดมพลังดำเนินการเสร็จไปแล้ว 40 ฝาย โดยพบว่าทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงก่อนหน้า และยังไหลอยู่แม้ย่างเข้าช่วงแล้ง

วันนี้ (16 ก.พ. 60) ที่น้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายตามรอยในหลวง และจิตอาสาจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ร่วมกันเดินสำรวจสภาพพื้นที่และลำน้ำห้วยแก้วที่ไหลลงมาจากยอดดอยสุเทพ ช่วงที่อยู่เหนือน้ำตกมณฑาธารขึ้นไปถึงน้ำตกไทรย้อย ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เพื่อเก็บข้อมูลนำไปวางแผนเตรียมพร้อมในการดำเนินกิจกรรม ตามโครงการฟื้นฝายตามรอยในหลวง ประจำปี 2560 ที่จะทำการขุดลอกตะกอนทรายที่ทับถมและซ่อมแซมฝายต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำห้วยแก้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ไหลจากยอดดอยสุเทพลงสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ในปี 2559 ได้ดำเนินไปแล้วครั้งหนึ่งเป็นปีแรก และได้ผลเป็นที่น่าพอใจในการช่วยชะลอกักเก็บน้ำและคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า

นายพันธวัสย์ กรรณกุลสุนทร ประธานเครือข่ายตามรอยในหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2560 นี้ทางเครือข่ายตามรอยในหลวง และจิตอาสาจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมที่จะร่วมกันทำกิจกรรมขุดลอกตะกอนทรายที่ทับถมและซ่อมแซมฝายต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำห้วยแก้ว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมกันกับทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นำจิตอาสา ทั้งประชาชน นักเรียน และนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 3,000 คน ทำการขุดลอกฝายที่อยู่ใต้น้ำตกมณฑาธารลงไปรวมทั้งสิ้น 40 ฝาย

จากการดำเนินการดังกล่าวพบว่าส่งผลดีทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้น โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อว่าน่าจะยังคงมีน้ำไหลต่อเนื่องจนผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งของปีนี้ เนื่องจากฝายที่ทำการขุดลอกตะกอนทรายออกไปแล้วสามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นและทำให้เกิดความชุ่มชื้นในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของสภาพป่า และต้นไม้ รวมทั้งระบบนิเวศของดอยสุเทพ

สำหรับการดำเนินการในปี 2560 นี้นั้น ประธานเครือข่ายตามรอยในหลวงเปิดเผยว่า เบื้องต้นจากการสำรวจพบว่ามีฝายชะลอน้ำทั้งที่อยู่ในลำห้วยหลักและลำห้วยสาขา อีกประมาณ 60 ฝาย ที่จะต้องดำเนินการขุดลอกตะกอนทรายออกไป โดยฝายชะลอน้ำหลักที่จะมีการดำเนินการอยู่บริเวณน้ำตกไทรย้อย ที่มีความกว้างประมาณ 10 เมตร และพบว่ามีตะกอนทรายทับถมสูงกว่า 1 เมตร

หลังจากการสำรวจในครั้งนี้แล้ว ทางเครือข่ายจะมีการนำข้อมูลกลับไปประชุมหารือร่วมกับทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เพื่อวางแผนในการทำงานในลำดับต่อไป ซึ่งเบื้องต้นได้ร้องขอให้ทางอุทยานฯ ทำการกำหนดจุดที่ตั้งของฝายแต่ละแห่งด้วยแผนที่ดาวเทียม

ทั้งนี้ ตามแผนกำหนดว่าทางเครือข่ายจิตอาสาในจังหวัดเชียงใหม่จะมีการรวมพลังกันและเริ่มต้นทำการขุดลอกฝายในวันที่ 5 พ.ค. 60 ที่ตรงกับช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 3 วัน และอาจจะมีการทำต่อเนื่องไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุชาติ ธนัญชัย อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการเครือข่ายตามรอยในหลวง เปิดเผยว่า กิจกรรมการขุดลอกฝายนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมกลุ่มนักศึกษาเป็นอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเมื่อเดือน เม.ย. 59 ทำการเดินสำรวจสภาพลำน้ำห้วยแก้ว โดยเฉพาะน้ำตกห้วยแก้วที่แห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง

กระทั่งพบว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งมาจากสภาพฝายที่ตื้นเขินเนื่องจากมีตะกอนทับถมทำให้ไม่สามารถชะลอและกักเก็บน้ำไว้ได้ จึงได้ทำการขุดลอกและซ่อมแซมฝายเบื้องต้นจำนวน 6 ฝาย จากนั้นก่อให้เกิดความตื่นตัวจากหลายภาคส่วนและร่วมกันเป็นเครือข่ายจิตอาสา ทำการขุดลอกฝายในปีที่ผ่านมาจำนวน 40 ฝาย จากทั้งหมด 104 ฝายที่สร้างตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่เคยมีการขุดลอก ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีการดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

โดยเชื่อว่าจะเกิดการรวมพลังกันอย่างเข้มแข็งอีกครั้งในการฟื้นฟูสภาพความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นผืนป่าสมบูรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด และลำน้ำห้วยแก้วที่ช่วยหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต






กำลังโหลดความคิดเห็น