นครพนม - เด็กนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม เจ๋ง คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ “เครื่องปั่นด้ายเพื่อกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง 6 หัวปั่นแบบอัตโนมัติ” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 60 เผยช่วยทอผ้าได้เร็วขึ้น ทั้งแก้ปัญหาผู้เฒ่าผู้แก่ปวดเมื่อยร่างกายเพราะนั่งปั่นด้ายแบบดั้งเดิมที่นั่งกับพื้นแล้วค่อยๆ หมุนเพื่อให้เส้นด้ายเรียงตัวกับหลอดใส่กระสวย
เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างมากที่เยาวชนไทยคนเก่งจังหวัดนครพนมสร้างชื่อในทางสร้างสรรค์ เมื่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย อ.เมือง จ.นครพนมสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ นักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560 ประเภทมัธยมศึกษา สิ่งประดิษฐ์ด้านภูมิปัญญาไทย ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องในวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2560 และงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ (2017 Bangkok International Property, Invention, Innovation and Technology Exposition : IPITEx 2017)
นางสาวปรมาภรณ์ กลิ่นบำรุง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย อ.เมือง จ.นครพนม เปิดเผยถึงที่มาของรางวัลดังกล่าวว่า ภายหลังทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจะจัดกิจกรรม วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2560 และงานมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ (2017 Bangkok International Property, Invention, Innovation and Technology Exposition : IPITEx 2017) ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2560 ตนเองและเพื่อนอีก 2 คน คือ นางสาววนิชชุตา เอกนิพนธ์ และนายธนวัฒน์ เอกนิพนธ์ จึงได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องปั่นด้ายเพื่อกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง 6 หัวปั่นแบบอัตโนมัติโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ Arduino ขึ้นเพื่อส่งผลงานเข้าประกวด
โดยมีนายศิลปกรณ์ จันทไชย และนางสาวดรุณี วีระพรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มีนายศิริชัย ไตรยราช ผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย และคณะครูให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ
นางสาวปรมาภรณ์เล่าว่า ผลงานชิ้นนี้มีแนวคิดมาจากการที่ได้พบเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในศูนย์ทอผ้าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดนครพนมจำนวนมากมักปวดเมื่อยตามร่างกายและแขนขา ตลอดจนเสียเวลาไปกับเครื่องปั่นด้ายแบบดั้งเดิมที่ต้องนั่งกับพื้นแล้วค่อยๆ หมุนเพื่อให้เส้นด้ายเรียงตัวกับหลอดใส่กระสวย จึงได้ร่วมกันคิดเครื่องปั่นด้ายแบบอัตโนมัติขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการส่งเข้าประกวดมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ได้เพียงรางวัลรองอันดับ 3 และ 2 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม พวกตนได้นำบทเรียนจากคำแนะนำ ข้อคิด ข้อติชมต่างๆ จากคณะกรรมการ รวมถึงความเห็นที่สะท้อนจากผู้ที่มาร่วมงานมาทบทวน ตลอดจนการนำผลงานที่ได้ไปให้ผู้ที่ทอผ้าได้ทดลองใช้จริง แล้วนำข้อติชมเหล่านั้นมาปรับปรุงพัฒนาจนกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์เวอร์ชันที่มีความสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ นักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2 2560 ประเภทมัธยมศึกษา สิ่งประดิษฐ์ด้านภูมิปัญญาไทย มาได้
โดยเครื่องนี้มีต้นทุนการผลิตเพียง 2,425 บาทเท่านั้น ประกอบด้วย แท่นวางหลอดด้าย ชุดปรับความตึงของเส้นด้าย แผงควบคุมการเคลื่อนที่ของเส้นด้าย และจอควบคุมแสดงผลแบบ LED ซึ่งทั้งหมดจะต่อมายังไมโครคอนโทรลเลอร์ Arduino ที่มีการเขียนโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อฝังการทำงานเอาไว้ในไอซีทำให้การควบคุมสเตปปิ้งมอเตอร์ในการหมุนเส้นด้ายเข้าสู่หลอดใส่กระสวยมีความแม่นยำในการเรียงตัวของเส้นด้าย และได้ขนาดตามที่ต้องการ เครื่องจะสามารถเลือกปั่นด้ายด้วยความเร็วถึง 3 ระดับ
ทั้งสามารถเลือกปั่นแบบทีละหลอดหรือมากกว่านั้นก็ได้ สูงสุดอยู่ที่ 6 หลอดต่อครั้ง ในเวลาเพียง 1 นาที 17 วินาที ถ้าเป็นแบบพื้นบ้านจะต้องใช้เวลาถึง 6 นาที 52 วินาทีเลยทีเดียว สำหรับกระแสไฟนั้นจะใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับและไฟฟ้ากระแสตรง โดยจะมีรีเลย์เป็นตัวควบคุมการจ่ายไฟ ซึ่งการทำงานในแต่ละครั้งจะกินไฟเพียง 72 วัตต์เท่านั้น
“นอกจากนี้ยังมีปุ่มหยุดฉุกเฉินกรณีเส้นด้ายขาดขณะปั่น และสามารถทำงานต่อเนื่องได้จนกระบวนการแล้วเสร็จ สำหรับในอนาคตนั้นจะมีการปรับปรุงให้สามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้อย่างเหมาะสม และสะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีก” นางสาวปรมาภรณ์กล่าว