xs
xsm
sm
md
lg

ผลขุดค้นคุกหญิงเก่าเชียงใหม่ พบหลักฐานเชื่อเป็นแนวกำแพง “เวียงแก้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่เผยคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ขุดค้นพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1 เมตร พบมีการใช้งานตั้งยุคล้านนา และมีแนวกำแพงกว้างประมาณ 1.8-2 เมตร ก่อหนาประมาณ 5-8 ชั้นอิฐ มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นแนวกำแพงเวียงแก้ว ส่วนจะเก่าแก่ตั้งแต่ยุคพญามังรายหรือไม่ยังต้องรอการพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่จังหวัดเร่งทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างรื้อถอนและก่อสร้างวงเงิน 100 ล้านบาทใหม่ หลังประกาศเชิญชวนแล้ว 2 รอบยังไร้เอกชนสนใจ

วันนี้ (7 ก.พ. 60) ที่บริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่, นายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และนายไพศาล สุรธรรมวิทย์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ในส่วนของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ที่รับผิดชอบการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงแก้ว หรือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่(เดิม) ซึ่งมีการดำเนินงาน 4 กระบวนการ ได้แก่ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์, การขุดค้นทางโบราณคดี (ขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่), การขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี(ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก) และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก

นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบนพื้นที่ของเวียงแก้ว หรือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งเป็นการดำเนินงานในกระบวนการที่ 2 จากทั้งหมด 4 กระบวนการที่ศิลปากรรับผิดชอบ โดยเป็นการขุดลอกเอาดินที่ทับถมตัวโบราณสถานในพื้นที่ออกเพื่อเผยให้เห็นถึงโบราณสถานที่อยู่ใต้ดิน โดยสิ่งที่ต้องการจะค้นหาคือร่องรอยของความเป็นเวียงแก้วหรือวังหลวงของพื้นที่แห่งนี้

ผลจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ให้ผลบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะเจอโครงสร้างแข็งภายใต้ดิน คือแนวกำแพงอยู่ ณ ปัจจุบันนี้และส่วนด้านนอก รวมถึงส่วนต่างๆ ที่ในการสำรวจนั้นมีผลออกมาว่าเจออยู่ทั้งสิ้น 7 จุด

ทั้งนี้ ผลของการขุดค้นทางโบราณคดีก็ทำให้เห็นว่าช่วงระดับตั้งแต่ผิวดินลงไปถึงประมาณ 50 เซนติเมตร จะเป็นช่วงระดับชั้นใช้งานของประมาณยุครัตนโกสินทร์ตอนกลางมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน และในช่วง 60 เซนติเมตร ลงไปถึง 1 เมตร โดยเฉพาะช่วงที่ประมาณ 80 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตรของผิวดินพบว่าจะเป็นชั้นใช้งานในยุคล้านนา

โบราณสถานสำคัญที่พบคือแนวกำแพง ที่มีลักษณะความกว้างประมาณ 1.8-2 เมตร ก่อหนาประมาณ 5-8 ชั้นอิฐ และจากการที่ได้เปรียบเทียบกับข้อมูลแผนผังโบราณที่ได้ทำซับซ้อนกับพื้นที่ปัจจุบันมีความสอดคล้องกัน และบ่งชี้ว่าแนวกำแพงที่ขุดเจอนั้นน่าจะเป็นแนวกำแพงเวียงแก้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นทางวิชาการที่จะต้องทำการค้นคว้าต่อไปก็คือการศึกษาว่าแนวกำแพงดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นสมัยใด ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากแผนที่โบราณนั้นได้แสดงให้เห็นว่ากำแพงเวียงแก้วปรากฏในแผนที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง หรือในสมัยของรัชกาลที่ 5

จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่จากเอกสารตำนานเมืองเชียงใหม่ ก็มีการกล่าวถึงการเปรียบเทียบพื้นที่ตั้งวังของพญามังรายในเชิงการเปรียบเทียบว่า พระองค์ทรงตั้งวังไว้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ที่เป็นวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า เวียงแก้ว ที่พบเห็นในแผนที่โบราณนั้นจะเป็นวังมาตั้งแต่ยุคสมัยของล้านนา หรือของพญามังราย ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรอการวิเคราะห์เพิ่มเติม จากการส่งตัวอย่างวัตถุที่ขุดค้นพบไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาอายุหรือยุคสมัยที่แน่ชัด

หลังจากที่ดำเนินงานในกระบวนการขุดค้นทางโบราณคดีเสร็จแล้ว ก่อนที่ดำเนินงานในกระบวนการต่อไป จะต้องรอให้มีการดำเนินงานในส่วนของการรื้อถอนอาคารอนุรักษ์ที่ยังเหลืออยู่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน โดยการดำเนินงานในส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของทางสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนของงานรื้อถอนและก่อสร้างนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการด้วยราคากลางประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งได้มีการประกาศประกวดราคาตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 ที่ผ่านมาแล้วรวม 2 ครั้ง แต่ไม่มีเอกชนรายใดเข้ายื่นเสนอราคาเลย

เบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขข้อกำหนดพิเศษในการทำงานที่ค่อนข้างยาก เช่น การห้ามใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าทำงานในพื้นที่ หรือการดูแลรักษาโครงสร้างไม้เก่าของอาคารที่มีอยู่เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างใหม่ เป็นต้น

โดยขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่กำลังดำเนินการพิจารณาทบทวนราคากลาง และปรับเงื่อนไขข้อกำหนดพิเศษต่างๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น คาดว่าจะทำการทบทวนเสร็จภายในเดือน ก.พ. 60 นี้ และประกาศเชิญชวนได้ในเดือน มี.ค. 60 จากนั้นน่าจะทำการประกวดราคาและทราบผล รวมทั้งน่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน เม.ย. 60 ทั้งนี้ระยะดำเนินการตามสัญญาทั้งสิ้น 660 วัน













กำลังโหลดความคิดเห็น