xs
xsm
sm
md
lg

คึกคักมาก! มาจากทั่ว ปท.หิ้วนกเขาประชันเสียงก้อง ม.แม่โจ้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยแม่โจ้เปิดสนามแข่งขันนกเขาชวาเสียง ชิงถ้วยประทาน “เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ” หนุนเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ

วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดแข่งขันนกเขาชวาเสียง บริเวณคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 ชิงถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประเภทเสียงใหญ่, เสียงกลาง, เสียงเล็ก และประเภทนกดาวรุ่ง โดยมีผู้เลี้ยงจากทั่วประเทศนำนกเขาชวาเข้าร่วมแข่งขันมากเกือบ 200 ตัว

นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงนกเขาชวาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามประวัติแล้วในประเทศไทยมีการเลี้ยงนกเขาป่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีการจับนกเขาป่ามาเลี้ยงเพื่อฟังเสียง และเพื่อโชคลาภ ต่อมาราวปี 2492 หรือ 60 กว่าปีก่อน ได้มีการนำมาผสม-เพาะพันธุ์ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และเลี้ยงกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และนอกจากการเลี้ยงนกแล้ว กรงนกเขาชวายังถือเป็นศิลปะชั้นสูง โดยเฉพาะในการทำกรงเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นศิลปะความคิดสร้างสรรค์ในการทำกรง ซึ่งมีราคาขายกันตามท้องตลาดตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงราคาหลายหมื่นบาท หรือบางกรงที่ทำจากวัสดุมีราคา ประดับด้วยมุข หรือพลอย จะมีราคาสูงถึงหลายแสนบาท

ส่วนการจัดการแข่งขันนกเขาชวา เป็นการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงให้นกเขาชวาเป็นสัตว์เศรษฐกิจแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานิยมเลี้ยงในพื้นที่ภาคใต้ และในต่างประเทศ มีการนิยมเลี้ยงในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน

เกณฑ์การตัดสินจะฟังน้ำเสียงจาก 1 คำขัน ประกอบด้วยพยางค์หน้า-คำหน้าที่ร้องออกมา, พยางค์กลาง-จังหวะ, พยางค์ปลาย-น้ำเสียงที่ปรากฏในคำขันนั้น ซึ่งพยางค์เสียงร้องหน้าจะมีเสียงว้าว พยางค์กลางจะเป็นเสียงจังหวะ มีเสียงร้อง กุ๊ก กุ๊ก กุ๊ก ส่วนพยางค์ปลายเป็นคำสุดท้าย หรือเรียกเสียงปลายนก จะมีเสียงกรูยาวๆ นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงความไพเราะของน้ำเสียงด้วย ซึ่งเสียงนกแต่ละตัวจะแตกต่างกัน จะเหมือนกับการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง







กำลังโหลดความคิดเห็น