นครพนม - ทำความรู้จัก “ไทแสก” ชนกลุ่มน้อย ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของไทย มีมากในท้องที่จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร “แสก” มีความหมายว่า “แจ้ง หรือ สว่าง” เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร..มิได้มีสายพันธุ์ของเชื้อสายเวียดนามแม้แต่นิดเดียว..!!
“คนไทแสก” คือกลุ่มชาติพันธุ์ เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ชายแถบเมืองรอง เมืองเว้ ต่อมาเวียดนามพยายามเข้าครอบครอง จึงรุกรานชาวไทแสกด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ นานา จนทำให้ชนไทแสกตกอยู่ในกำมือของเวียดนาม แต่ยังมีพี่น้องไทแสกบางกลุ่มไม่แฮปปี้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนาม เกณฑ์สมัครพรรคพวกอพยพลงมาทางตอนใต้ ลัดเลาะป่าเขาที่กันดารถึงตอนกลางของประเทศ มาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ใกล้เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ณ บ้านหม้อเตลิง, บ้านทอก, ท่าแค และบ้านโพธิ์ค้ำ
“แสก” หมายความว่า “แจ้ง หรือ สว่าง” เป็นชนชาติหนึ่งในตระกูลมอญ-เขมร..มิได้มีสายพันธุ์ของเชื้อสายเวียดนามแม้แต่นิดเดียว..!!
ส่วนชาวไทแสกที่อพยพจากเมืองแสก ย้ายครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ “บ้านโคกยาว” ปัจจุบันคือบ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม คนไทแสกที่ย้ายมาในชุดแรกรุ่นบุกเบิกมีจำนวน 1,170 คน ต่อมาชาวไทแสกได้ขยับขยายบ้านช่อง ย้ายถิ่นฐานจาก “บ้านโคกยาว” มาอยู่ที่บ้าน “ป่าหายโศก” ปัจจุบันคือ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม
ภายหลัง “พระสุนทร ราชวงษา (ฝ้าย)” พิจารณาเห็นว่าชาวไทแสกมีความสามารถ มีความรักสามัคคี และเข้มแข็ง สามารถปกครองตนเองได้ จึงยกฐานะชนชาวไทแสกที่อยู่ที่ “ป่าหายโศก” ให้เป็น “กองอาทมาต” ทำหน้าที่คอยลาดตระเวนชายแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง..!!
คำว่า “อาทมาด, อาทมาฏ, อาตมาท, อาทมารถ, หรืออาจสามารถ” เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในเพลงดาบสะท้านแผ่นดิน โดยเฉพาะการต่อสู้บนหลังม้าเขาเก่งกว่าใครเลยเชียว และมีความแข็งแกร่งในการสู้รบ “ชาวมอญดั้งเดิม” มักสังกัดอยู่ในกองกำลังนี้มากกว่าใคร ทำหน้าที่เป็น “สายลับ” หรือ “หน่วยสืบราชการลับ” คอยสืบข่าวส่งข่าวให้เจ้าเมืองในยุคนั้น..!!
นอกจากนี้ชื่อของกองกำลังดังกล่าวยังเป็นชื่อเรียกในวิชาเพลงดาบแขนงหนึ่งของไทย เชื่อกันว่าเป็นมรดกตกทอดครั้งแผ่นดิน “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ตั้งแต่ยังมีพระอิสริยยศเป็น “พระอุปราชวังหน้ารั้งเมืองพิษณุโลก” ธรรมดาซะที่ไหนล่ะชื่อนี้..!!
ปัจจุบันชาวไทแสกส่วนมากมีชุมชนใหญ่อยู่ที่ ต.อาจสามารถ อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม 4 กิโลเมตร และยังมีชนไทแสกบางกลุ่มอพยพโยกย้ายที่อยู่ไปทำมาหากินถิ่นต่างๆ ในจังหวัดนครพนม และรวมทั้งเขต สปป.ลาว ดังนี้ 1. ต.อาจสามารถ 2. บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ 3. บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม 4. บ้านดอนสมอ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และ 5. บ้านโพธิ์คำ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว
และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทแสก ทราบว่าปัจจุบันยังมีไทแสกเชื้อสายเดียวกันอาศัยอยู่ “แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน” และจังหวัดสมุทรปราการ โดยชาวไทแสกทุกหมู่บ้านทุกกลุ่มไม่ว่าจะอยู่ที่ไทย หรืออยู่ที่ลาวสามารถพูด “ภาษาแสก” สื่อสารพูดคุยกันได้..
ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวแสก คือ “พิธีกินเตดเดน” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อ “โองมู้” ที่ชาวไทแสกเคารพนับถือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา เป็นผู้มีพระคุณต่อลูกหลานรุ่นหลังๆ สืบต่อกันมา “โองมู้” จะทำหน้าที่คุ้มครองอันตรายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และดลบันดาลให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามที่ “ผู้บ๊ะ” (บนบาน)
โดยมี “กวนจ้ำ” เป็นสื่อกลางในการประกอบพิธีกรรม แต่หากลูกหลานประพฤติมิชอบ ไม่เหมาะสม หรือทำพิธีบนบานแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ดีงาม หรือไม่มีพิธีกรรม “เก่บ๊ะ” (พิธีแก้คำบนบาน) ก็จะทำให้เกิดเหตุเภทภัยในครอบครัว
พิธีบวงสรวง “โองมู้” โดยการแสดง “แสกเต้นสาก” ในสมัยก่อนการเต้นสากของชาวแสกถือว่าเป็นการละเล่นประจำชนเผ่า จะมีขึ้นเฉพาะพิธีบวงสรวง “โองมู้” เท่านั้น ในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ม.ค. 60 ชาวแสกจะมีการแสดง “แสกเต้นสากถวายโองมู้” โดยใช้ไม้สากตีกระทบกันเป็นจังหวะ สากที่ใช้ตีในการเต้นก็คือ “ไม้สากกะเบือ” ที่ใช้ตำข้าวในสมัยโบราณ ลักษณะยาวประมาณ 2 เมตร ตรงกลางเรียวเล็ก ใช้เคาะจังหวะประกอบการเต้น ร่วมกับดนตรีพื้นบ้าน มีกลองใหญ่ กลองเล็ก ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ และพังฮาด ที่มีลักษณะคล้ายฆ้อง ตรงกลางจะนูนเป็นวงกลม
ปัจจุบันไม้สากตำข้าวยุคโบราณล้าสมัย กอปรกับชาวบ้านเลิกตำข้าวกันแล้ว จึงพัฒนามาเป็นไม้ชนิดอื่นที่สมมติว่าเป็นไม้สากตำข้าว แม้เส้นเสียงจะไม่หนักแน่นเหมือนสากกะเบือยักษ์ แต่ความไพเราะก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การเต้นจะคล้ายๆ กับรำลาวกระทบไม้ เสียงดังโป๊กๆ แต่จังหวะการเต้นจะโจ๊ะกว่าเร็วกว่า มีทั้งเต้นเดี่ยว เต้นคู่ โดยผู้ทำหน้าที่เคาะไม้สากจะนั่งตรงข้ามจับคู่กันประมาณ 5 ถึง 7 คู่ คนเต้นกับคนเคาะไม้จะต้องเข้าขากัน ฟิตซ้อมกันมาอย่างดี หากอ่อนซ้อมเวลาร่ายรำตามจังหวะเพลงอาจจะยกแข้งยกขาพลาดจังหวะ
ผลคือถูกไม้หนีบข้อเท้าเคล็ดเดินกะเผลกหลายวันเชียวล่ะ และพิธีแสกเต้นสากได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานราชการเพื่อให้ดำรงคงอยู่เป็นสมบัติของชาวไทแสกตลอดไป พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของจังหวัดนครพนม..!!
“แสกเต้นสาก” จะมีให้เห็นเฉพาะในวันบวงสรวงโองมู้เท่านั้น หากมาไม่ตรงวันจะต้องเป็นแขกกิตติมศักดิ์ระดับ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เขาถึงจะยอมเต้นให้ชมนะครับ..!!