xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้ายอดศึก” ฟันธง 10 เดือนรัฐบาล “ซูจี” พม่ายังไม่เปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดอยไตแลง รัฐฉาน - “เจ้ายอดศึก” ผู้นำกองทัพรัฐฉาน ชี้ชัด 10 เดือนเมียนมา ภายใต้รัฐบาล “อองซานซูจี” ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน ไม่มีทั้งการกระจายอำนาจ-ส่วนแบ่งทรัพยากร สัมปทานป่าไม้-แร่ธาตุ-อัญมณี-อาหารทะเล ยังอยู่ในมือรัฐบาลหมด มีแต่ความหวังหยิบสัญญาปางหลวงขึ้นมาคุยกันใหม่

พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน ประเทศพม่า เปิดเผยหลังจัดงานบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บนฐานที่มั่นทางทหารดอยไตแลง ในรัฐฉาน เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) โดยผู้นำกองทัพรัฐฉานระบุว่า หลังประชาชนในพม่าโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยต่างๆ พากันเทคะแนนให้แก่นางอองซานซูจีจนได้เป็นผู้บริหารประเทศ แต่สถานการณ์ในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ในประเทศยังไม่มีอะไรดีขึ้น โดยเฉพาะชนชาติไทยใหญ่ยังคงต้องพัฒนากองกำลังทหาร และพัฒนาสังคมวัฒนธรรมของชนชาติให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะต้องปกป้องตนเองจากทหารพม่า

อย่างไรก็ตาม ก็น่าเห็นใจนางอองซานซูจี เพราะทหารพม่าเป็นผู้บริหารประเทศมานานจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยภายในเวลาสั้นๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประชาชนเกลียดทหาร ไม่เห็นด้วยต่อการที่ให้ทหารมาปกครอง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงเทคะแนนให้นางอองซานซูจีแบบถล่มทลาย ขณะนี้เธอบริหารมาเพียง 10 เดือน ต้องให้โอกาสอย่างน้อยน่าจะ 2 ปี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

พล.ท.เจ้ายอดศึกกล่าวอีกว่า แต่หลังจากรัฐบาลใหม่เข้ามา ชนชาติไทยใหญ่ได้ร่วมมือกับรัฐบาล คือ การประกาศหยุดยิงไปแล้ว แต่ไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปบริหารใดๆ เพียงแต่เรามีการเจรจาการเมือง เป้าหมายสูงสุดคือการทำให้รัฐฉานได้ปกครองตนเองในรูปแบบสหพันธรัฐ เพราะรัฐฉานมีศักยภาพมีครบทุกอย่าง ขาดอยู่อย่างเดียวคือ อำนาจของเราที่ถูกแย่งชิงไป เราจำเป็นต้องขออำนาจปกครองของรัฐฉานเอง

พล.ท.เจ้ายอดศึกกล่าวด้วยว่า แต่ตลอดระยะ 10 เดือนภายใต้การบริหารของรัฐบาลใหม่ยังไม่มีปรากฏการณ์ใดในการกระจายอำนาจ หรือส่วนแบ่งทางธุรกิจลงมายังเมืองต่างๆ เลย เศรษฐกิจในรัฐฉานไม่มีการขยายตัว ประชาชนเพิ่งเริ่มตื่นตัวในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเกษตรกรรมคือ แนวทางที่คนในรัฐฉานกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทั้งหมดที่มีการพัฒนา ไม่มีการช่วยเหลือ หรือส่งเสริมจากรัฐบาลกลางแต่อย่างใด ในส่วนของประชาคมอาเซียน พม่าก็ยังไม่ได้พัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าใดๆ เลย

ส่วนการสัมปทานแหล่งทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ อัญมณี อาหารทะเล หรือป่าไม้ รัฐบาลพม่ายังกุมสภาพไม่เปิดให้ใครเข้าไปทำโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นแหล่งเงินงบประมาณของรัฐบาล ดังนั้นไม่ต้องถามว่าชนชาติต่างๆ ในพม่าจะได้ส่วนแบ่งการจัดการทรัพยากรหรือไม่ คงไม่ต้องถามว่าชนชาติต่างๆ ได้ประกอบธุรกิจภายใต้ทรัพยากรของตัวเองหรือยัง

ทั้งนี้ ในช่วงที่นางอองซานซูจีถูกสังคมโลกมองเป็นนักประชาธิปไตย ทำหน้าที่บริหารประเทศ ได้หยิบสนธิสัญญาปางหลวงขึ้นมาใหม่ ถือเป็นความหวัง เพราะสัญญาปางหลวงคือความหวังของชนชาติต่างๆ ในพม่าที่จะมีโอกาสปกครองตนเองแบบสหพันธรัฐ เรื่องนี้ทุกชนชาติในพม่ามองรัฐบาลอองซานซูจีเหมือนๆ กันคือ ให้โอกาสรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งคงเป็นเรื่องยาก แต่ระยะเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่จะพิสูจน์การทำงานของนักประชาธิปไตยผู้นี้







กำลังโหลดความคิดเห็น