ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สุดปลาบปลื้ม! คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ สร้างสรรค์ผลงาน “ประติมากรรมแห่งแสง” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร จากวัสดุอะลูมิเนียม คอมโพสิต ติดตั้งบนชั้นดาดฟ้าอาคารเรียน เพื่อรำลึกและถวายความอาลัยการสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อถูกแสงแดดสาดส่องในช่วงเวลา 15.00-16.00 น.ของทุกวัน จะเกิดเงาทอดเป็นภาพคล้ายพระพักตร์ ตั้งใจสื่อความหมายว่าพระองค์ท่านไม่เคยจากไปไหน
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 60 ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการติดตั้งประติมากรรมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร ไว้ที่ชั้นบนของอาคาร โดยประติมากรรมดังกล่าวเมื่อถูกแสงพระอาทิตย์สาดส่องในช่วงเวลาประมาณ 15.00-16.00 น.จะเกิดเงาที่มองเห็นเป็นภาพคล้ายพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สร้างความชื่นชมและปลาบปลื้มประทับใจให้แก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากที่มีการติดตั้งได้มีผู้นำเรื่องราวและภาพเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ระบุว่าผลงานดังกล่าวมีชื่อว่า ประติมากรรมแห่งแสง เป็นผลงานความคิดสร้างสรรค์ของอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการออกแบบและคำนวณทิศทางการตกของแสงอาทิตย์เป็นอย่างดีเพื่อให้เกิดภาพดังกล่าว
ทั้งนี้ ในโซเชียลมีเดียมีการโพสต์ข้อความระบุด้วยว่า “การปรากฏที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ของมุมแสงบ่าย 15.52 น. ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แด่พระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 #ครบ 100 วันบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร”
สำหรับผลงานประติมากรรมดังกล่าวนั้น วันนี้ (25 ม.ค. 60) จากการสอบถามทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทราบว่าเป็นผลงานของอาจารย์ประจำของคณะ ที่นำโดย ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล, อาจารย์กานต์ คำแก้ว และอาจารย์วรงค์ วงศ์ลังกา ซึ่งอาจารย์ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 59 จากนั้นในวันที่ 15 ต.ค. 59 ได้มีความคิดร่วมกันในการจะสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นรำลึกและถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่าน
จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมดังกล่าว ที่มีการคำนวณและออกแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อให้แสงพระอาทิตย์ในช่วงเวลาประมาณ 15.00-16.00 น.ของทุกวัน เมื่อสาดส่องไปที่ผลงานแล้วจะเกิดเงาทอดลงพื้นผิว เป็นภาพคล้ายพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงก้มพระพักตร์ทอดพระเนตรลงมายังเบื้องล่าง ซึ่งใช้ระยะเวลานับตั้งแต่ที่เริ่มต้นคิดจนกระทั่งมีการติดตั้งผลงานรวมทั้งสิ้น 100 วันพอดี
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกด้วยว่า การสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวนี้ ต้องการจะสื่อความหมายด้วยว่า แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่พระองค์ท่านไม่ได้จากไปไหน ยังคงสถิตอยู่กับพสกนิกรเสมอ โดยใช้แสงเป็นเสมือนสะพานในการอัญเชิญภาพพระพักตร์ของพระองค์ท่านมาให้ได้ชื่นชมพระบารมีทุกวัน
การออกแบบมีการคำนวณทิศทางการโคจรของพระอาทิตย์ โดยตั้งใจให้ช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ส่องและเกิดเงาเป็นภาพคล้ายพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่ในช่วงเวลา 15.00-16.00 น.ของทุกวัน สื่อถึงเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคตในเวลา 15.52 น. โดยการออกแบบยังรวมไปถึงการติดตั้งกลไกการปรับหมุนทิศทางและมุมองศา ในการรับแสงอาทิตย์ของประติมากรรมไว้ด้วย เพื่อให้ยังคงเกิดเงาภาพเช่นเดิมและในช่วงเวลาเดิมของทุกวัน
ขณะที่ระยะเวลาการติดตั้งผลงานประติมากรรมดังกล่าว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า เบื้องต้นจากการหารือกำหนดจะติดตั้งไว้จนกว่าจะครบรอบ 1 ปี การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นจะมีการหารือและพิจารณาร่วมกันเพื่อดำเนินการตามความสมควรต่อไป
ส่วนความแข็งแรงคงทนของประติมากรรมดังกล่าว เชื่อมั่นว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะที่ใช้วัสดุหลักเป็นอะลูมิเนียม คอมโพสิต ที่เป็นวัสดุชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการบุภายนอกตัวอาคาร ซึ่งที่มีความแข็งแรงคงทนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การติดตั้งได้มีการออกแบบเผื่อไว้ในกรณีต้องซ่อมบำรุงไว้แล้วด้วย