xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากร ทลฉ. โอ่อุดรอยรั่วภาษีสำเร็จ ยอดจับกุมปี 59 พุ่ง สร้างรายได้กว่า 1.6 แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เผยหลังเน้นหนักให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดเรื่องระเบียบแบบแผนทางราชการในการทำงาน โดยเฉพาะการตรวจสอบสินค้าเพื่ออุดรอยรั่วค่าภาษี ทำให้การดำเนินงานในปี 59 มียอดจับกุมผู้กระทำผิดมากกว่าปีก่อน สร้างรายได้เข้ารัฐกว่า 1.6 แสนล้านบาท

นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เผยถึงการดำเนินงานของสำนักงานฯ ในปีงบประมาณ 2559 ว่า สามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้กว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้ของศุลกากร จำนวน 3.49 หมื่นล้านบาท รายได้ของหน่วยงานอื่น เช่น สรรพากร สรรพาสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทย จำนวน 1.26 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แม้รายได้ของศุลากรในปีที่ผ่านมาจะต่ำกว่าประมาณการถึง 13% หรือประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท แต่ก็สามารถจัดเก็บรายได้ให้หน่วยงานอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 11% โดยเฉพาะสรรพสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทย

ส่วนการค้าในปี 2559 แม้สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จะมีมูลค่าการค้าทั้งในส่วนของการนำเข้าและส่งออกลดลง 1% แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกในปี 2558 กลับเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยมีมูลค่านำเข้าร่วม 2.2 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกประมาณ 3.9 ล้านบาท

เช่นเดียวกับการจับกุมที่หากเปรียบเทียบกับปี 2558 ก็พบว่า มีจำนวนรายการที่ถูกจับกุมเพิ่มขึ้นประมาณ 26% จากเดิมที่จับกุมได้กว่า 130 ราย เป็น 167 ราย จนมีรายได้จากการขายของกลางเพิ่มจาก 30 ล้านบาท เป็น 167 ล้านบาท หรือคิดเป็น 154%

“ในปีนี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรกว่า 430 คน จะปฏิบัติงานด้วยความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐาน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับเลือกให้เป็นโครงการนำร่องใน 3 โครงการที่ได้รับมอบหมายเรื่องการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวง และอธิบดี คือ โครงการนำองค์กรคุณธรรมมาใช้กับสำนักงาน ที่เน้นความโปร่งใส สุจริต และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ นำโครงการที่ได้รับคัดเลือกมาปรับกระบวนการทำงานในการตรวจปล่อยสินค้าทางเรือ จากเดิมที่ใช้วิธีการตรวจสินค้าด้วยบุคคลเพียงคนเดียว ที่อาจทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีปัญหา ด้านการใช้วิจารณญาณในทางที่ไม่ถูกต้อง มาเป็นการตรวจสินค้าเป็นทีมเพื่อให้เกิดการใช้วิจารณญาณที่ชัดเจน สร้างความถูกต้องภายใต้นโยบายโปร่งใส สุจริต และในปีนี้ยังรณรงค์เกี่ยวกับการเป็นองค์กรคุณธรรม 6 ขั้นตอนอีกด้วย”

นายกิตติ ยังเผยถึงปัจจัยที่ทำให้ผลการจับกุมในปี 2559 สูงกว่าปี 2558 ว่า เกิดจากการเน้นหนักในเรื่องของระเบียบแบบแผนทางราชการที่มีความเข้มงวดด้านการตรวจสอบสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ และเน้นอุดรอยรั่วของค่าภาษีที่อาจรั่วไหลไปกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสินค้าที่จับกุมได้มากที่สุด คือ สินค้าเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการยื่นฟอร์มแหล่งกำเนิดที่ไม่ตรงตามฟอร์ม เช่น ผลไม้ พืชเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ล้วนเกิดจากการฉ้อฉลเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น