xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่งภูมิปัญญา ชาวบ้านเมืองช้างนำขวดพลาสติกเหลือใช้ดักจับกุ้งฝอยขาย-สร้างรายได้ทุกวัน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขวดพลาสติกเก่าเหลือใช้ดัดแปลงเป็นเครื่องมือดักจับกุ้งฝอย แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน
สุรินทร์ - ทึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน ชาวศีขรภูมิ เมืองช้าง นำขวดพลาสติกเก่าเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นเครื่องมือแบบดักจับกุ้งฝอยตามแหล่งน้ำใกล้บ้านได้จำนวนมาก เหลือประกอบอาหารในครอบครัว แบ่งขายสร้างรายได้งามเข้าครัวเรือนทุกวัน เผยเคล็ดลับเมนูยอดนิยม “ก้อยกุ้งเต้น” แซบในสามโลก



วันนี้ (24 ม.ค.) ที่บ้านนา หมู่ที่ 7 ต.เตรียม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวได้พบกับ นายมั่น บุตรงาม อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18/2 ต.เตรียม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดประยุกต์ภูมิปัญญาพื้นบ้านท้องถิ่น นำขวดพลาสติกเก่าเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นเครื่องมือดักจับกุ้งฝอยตามแหล่งน้ำต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารรับประทานในครัวเรือนและเหลือแบ่งขายให้เพื่อนบ้าน สามารถสร้างรายได้เข้าครอบครัวทุกวัน วันละ 200-300 บาท

นายมั่นเล่าว่า ตนออกหาเก็บขวดพลาสติก ประเภทขวดน้ำอัดลมเก่าเหลือใช้หรือถูกทิ้งแล้วนำมาดัดแปลงเพื่อดักจับกุ้งฝอย โดยตัดขวดเป็นสองชิ้น ในจุดที่วัดจากส่วนปากขวดลงมาประมาณ 4 นิ้ว ส่วนล่างขวดนั้นเจาะรูรอบขวดเพื่อให้น้ำสามารถเข้า-ออกขวดได้บ้าง ขณะนำไปปักแช่ในแหล่งน้ำเพื่อดักจับกุ้งฝอย และส่วนที่เป็นคอขวดด้านปิดฝาขวดจะกลับด้านส่วนนี้เสียบลงไปในขวดส่วนล่างและนำเอาหัวอาหารปลา รำอ่อนมาทำเป็นเหยื่อล่อกุ้งผูกติดไว้ ก่อนใช้ไม้ไผ่มาเสียบขวดสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน

จากนั้นนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปปักแช่ในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วไปเพื่อดักจับกุ้งฝอย เมื่อกุ้งได้กลิ่นเหยื่อจะพากันเข้าไปกินอาหารตรงปากขวดที่กว้าง แต่ไม่สามารถออกจากขวดได้เพราะรูปากขวดเล็ก และกุ้งจะสนใจแทะกินอาหารที่บริเวณจุกฝาขวดด้านใน ซึ่งเป็นวิธีการดักจับกุ้งฝอยได้อย่างง่ายดายแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

นายมั่นกล่าวว่า ในช่วงเย็นทุกวันตนจะนำเอาอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ไปเสียบปักไว้ตามริมหนองน้ำที่ไม่ลึกมาก พอตอนเช้าของวันใหม่จะไปเก็บกู้เทกุ้งออกจากกระบอกขวดพลาสติก ซึ่งบางวันได้กุ้งฝอยปริมาณเยอะมาก เฉลี่ยแล้วจะขายได้วันละ 200-300 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้ดีเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพียงลงแรงอย่างเดียวกับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เรานำมาประยุกต์ใช้กับวัสดุที่หาง่ายในปัจจุบัน

โดยแต่ละวันเมื่อได้กุ้งฝอยมาแล้วจะนำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วใส่ถุงชั่งแบ่งขายขีดละ 20 บาท ส่วนใหญ่ชาวบ้านซื้อไปประกอบอาหาร ทั้งคั่วเกลือ ก้อยกุ้งเต้น หรือยำกุ้ง โดยมารอซื้อกันถึงที่บ้านเลยไม่ต้องลำบากไปเดินเร่ขาย ซึ่งคนที่มาซื้อบอกว่าชอบเพราะได้กุ้งฝอยสดๆ เป็นๆ ไป ดีกว่าไปหาซื้อตามตลาดที่หายากและไม่สดอย่างนี้

โดยเฉพาะเมนูยอดนิยม คือ ก้อยกุ้งเต้น หรือยำกุ้งเต้น นั้นต้องใช้กุ้งสดๆ เป็นๆ และมีเครื่องเทศครบครัน ทั้งพริกป่น ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว ข้าวคั่ว น้ำปลา ผงชูรส หอมแดงหั่นบางๆ และหากได้มะกอกด้วยยิ่งอร่อยเลิศ ส่วนวิธีปรุง เพียงแค่เทเครื่องเทศเครื่องปรุงทั้งหมดลงไปคนกับกุ้งฝอยให้เข้ากันเท่านั้น บอกได้เลยว่าแซบหลาย นายมั่นกล่าวในตอนท้าย
ทึ่งภูมิปัญญาชาวบ้าน! ชาว อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์  นำขวดพลาสติกเก่าเหลือใช้มาดัดแปลงดักจับกุ้งฝอยตามแหล่งน้ำใกล้บ้านได้จำนวนมาก  แบ่งขายสร้างรายได้เข้าครัวเรือนทุกวัน วันนี้ ( 24 ม.ค.)












กำลังโหลดความคิดเห็น