อุตรดิตถ์ - พ่อเมืองอุตรดิตถ์สั่งศูนย์ดำรงธรรมหารือ กสทช.กรณีบริษัทเอกชนทำประชาคมถูกต้องหรือไม่ในการขอตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือกลางชุมชน ระบุการทำประชาคมควรให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมให้ กสทช.ระบุระเบียบและขั้นตอนการขออนุญาตให้ชัดเจน
นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรม จ.อุตรดิตถ์ ได้ส่งหนังสือของชาวชุมชนสมานมิตร เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เรื่องคัดค้านการขออนุญาตก่อสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือของบริษัทเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ติดกับบ้านเรือนประชาชนและอยู่กลางชุมชนสมานมิตร เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ที่มีทั้งบ้านเรือน โรงเรียน สถานที่ออกกำลังกาย และวัด มาที่จังหวัดแล้ว และตนได้สั่งการให้ศูนย์ดำรงธรรมทำหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เพื่อขอทราบขั้นตอนการปฏิบัติว่าจังหวัดจะต้องทำอย่างไรกรณีการขออนุญาตก่อสร้างและปล่อยสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะการทำประชาคมนั้นทำถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ หากไม่ถูกต้องเชื่อว่า กสทช.ก็คงไม่อนุญาตให้ส่งสัญญาณได้
นายพิพัฒน์กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ที่มีการขออนุญาตก่อสร้างเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แต่การตั้งเสาลักษณะดังกล่าวก่อนหน้านี้ไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตหรือไม่ เพราะบางเสาอยู่บนอาคารพาณิชย์ ส่วนการขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องยื่นการทำประชาคมแนบไปกับหนังสือขออนุญาต จะจริงหรือเท็จแค่ไหนที่เทศบาลเมือง (ทม.) อุตรดิตถ์ระบุว่าบริษัทเอกชนไม่ต้องยื่นเอกสารการทำประชาคมมากับหนังสือขออนุญาตเพียงแต่ยื่นเอกสารการก่อสร้างก็ได้แล้ว ผู้บริหารเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์จะต้องลงนามในคำอนุญาตภายใน 30 วัน หากไม่ลงนามบริษัทเอกชนจะฟ้องร้องนั้น เรื่องนี้ก็ต้องสอบถามไปยัง กสทช.เช่นเดียวกันเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่
“การที่ อปท.หรือหน่วยงานทั้งภาครัฐหรือเอกชนจะเข้ามาดำเนินกิจกรรมหรือโครงการอะไรภายในชุมชนนั้นจะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยทุกครั้งเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบกิจกรรมนั้นๆ เพราะจะต้องคำนึงถึงผลกระทบหรือข้อดีข้อเสียของโครงการก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการชุมชน และการทำประชาคมที่ถูกต้องนั้นจะต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำประชาคม จะต้องมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร จะอ้างว่าเป็นการประชาคมของชุมชนแล้วถือเป็นมติเสียงส่วนใหญ่ดูแล้วเหมือนจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้องมากนักหากคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ทราบเรื่องหรือข้อมูลที่ถูกต้องของบริษัทเอกชน ดังนั้น การทำประชาคมที่ถูกต้องน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม หาก กสทช.เห็นว่าการทำประชาคมไม่ถูกต้องก็ไม่น่าจะอนุญาตให้บริษัทเอกชนส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้” นายพิพัฒน์กล่าว