มหาสารคาม - พสกนิกรชาวมหาสารคาม 2,498 คนสวมชุดพื้นเมืองสีเหลืองห่มสไบดำ ร่วมกันรำแสดงความอาลัย หัวใจที่ฮักพ่อ ในพิธีเปิดงานบุญเบิกฟ้า และกาชาดประจำปี 2560
เย็นวันนี้ (23 ม.ค. 60) ที่สี่แยกธนาคารกรุงเทพ ถนนครสวรรค์ อ.เมืองมหาสารคาม พสกนิกรชาวมหาสารคามจำนวน 2,498 คนพร้อมใจสวมชุดพื้นเมืองสีเหลืองห่มสไบสีดำ ร่วมใจกันรำแสดงอาลัย “ด้วยหัวใจที่ฮักพ่อ” ในพิธีเปิดงาน “บุญเบิกฟ้า และงานกาชาดประจำปี 2560” โดยมีนายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสาคามเป็นประธานเปิดงาน จัดขึ้นระว่างวันที่ 23 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2560
ทั้งนี้ เพื่อสืบสานประเพณีบุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้นตามความเชื่อว่าเมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝนลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้นๆ ซึ่งกำเนิดขึ้นก่อนฤดูทำนา
นอกจากนี้ยังเป็นการรำลึกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ มาที่จังหวัดมหาสารคามปี พ.ศ. 2498 ณ ศาลากลางจังหวัดมหาสารคามหลังเก่า
นายวิรุจ วิชัยบุญ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมกันจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีบุญเบิกฟ้ามหาสารคามและงานกาชาดจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2560 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อบูชาแม่พระโพสพตามความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และหารายได้เพื่อกิจกรรมสาธารณกุศลให้แก่เหล่ากาชาดมหาสารคาม
โดยเรื่องราวการทำนา และพิธีบูชาแม่พระโพสพ เนื่องในงานบุญประเพณีบุญเบิกฟ้า ตามความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน จะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกปริมาณน้ำฝน และถือเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลทำนา ชาวนาจะนำปุ๋ยคอกไปใส่ในนาข้าวเตรียมพร้อมเพาะปลูกข้าว
ในงานประเพณีบุญเบิกฟ้าและกาชาดฯ มีกิจกรรม เช่น พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, ขบวนแห่ประเพณีทั้ง 12 เดือนของชาวอีสาน, การเสี่ยงทายฟ้าฝน, ชมแปลงสาธิตเมืองเศรษฐกิจพอเพียง, การแสดงผลิตภัณฑ์โอทอปของดีเมืองมหาสารคามทั้ง 13 อำเภอ,
ประกวดพืชผลทางการเกษตร ร้านมัจฉากาชาด และช่วงกลางคืนมีงาน ราตรีลายเส้นผ้าไหม การสาธิตการเลี้ยงไหม การทอผ้าไหม การจัดตัดเย็บจากผ้าไหมซึ่งเป็นฝีมือของชาวบ้าน พร้อมกับการแสดงโชว์เดินแบบผ้าไหมของแต่ละตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบขั้นตอนในการได้มาเป็นผืนผ้าไหม พร้อมกับการแสดงหมอลำพื้นบ้าน