ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก หวังจัดการศึกษาในเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน เพื่อพัฒนาพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัด
วันนี้ (23 ม.ค.) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออกจังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุมชลบุรี ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปของจังหวัดชลบุรี
เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อนำไปสู่แผนการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และระบบลอจิสติกส์ ทั้งระบบการอำนวยความสะดวกให้บริการของภาครัฐในพื้นที่เขต EEC และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด
โดยจังหวัดชลบุรี ได้จัดการประชุมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ และมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 เป็นผู้ดำเนินการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการการจัดการศึกษาบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พร้อมทั้งหน่วยงานหลักสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดชลบุรี 5 สถานศึกษาในจังหวัดชลบุรีทั้งสิ้นจำนวน 180 คน เข้าร่วมประชุม และนำเสนอแผนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวต่อไป
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการศึกษาในเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัด โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภายใต้โปรแกรม Matching Researchers and Businessman for Research เพื่อให้นักธุรกิจ และนักวิจัยได้จับคู่กันอย่างเหมาะสม
โดยเฉพาะธุรกิจในระเบียงเศรษฐกิจที่สามารถส่งสินค้าไปสู่ต่างประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มอาเซียน และกลุ่ม 10 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษประเทศจีน ประเทศเอเชียใต้ ประเทศในกลุ่มยุโรป และอื่นๆ ต่อไป