xs
xsm
sm
md
lg

รพ.อุดรฯ ผ่าตัดเปลี่ยนไตหนุ่มใหญ่วัย 42 สำเร็จอีก น่าตกใจ! ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพิ่มหมื่นคน/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - รพ.อุดรธานีผ่าตัดเปลี่ยนไตหนุ่มใหญ่วัย 42 ปีชาว อ.ไชยวานเป็นผลสำเร็จ ช่วยต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์มอบความสุขให้คนป่วย เป็นที่ 2 ของประเทศไทยที่มีผู้บริจาคอวัยวะมากที่สุด เผยคนไทยป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงราว 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้น

เช้าวันนี้ (19 ม.ค.) ที่หอผู้ป่วย ICU ศัลยกรรม โรงพยาบาลอุดรธานี นายแพทย์ ธรรมนูญ วิสิฐธนวรรธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี นายแพทย์ ณรงค์ ธาดาเดช รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลอุดรธานี และคณะแพทย์ ได้เข้าเยี่ยมอาการของผู้ป่วยชื่อ นายสุรชัย เหมือนเมือง อายุ 42 ปี ชาวอำเภอไชยวาน จ.อุดรธานี ได้ป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย และได้การรักษาโดยวิธีบำบัดล้างไตทางหน้าท้อง เป็นเวลา 6 ปี และได้ขึ้นทะเบียนปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลอุดรธานี

ต่อมาได้รับการปลูกถ่ายไตจากผู้ป่วยสมองตาย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 เวลา 23.00 น. โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคือ แพทย์หญิง พิชญา ประจันพานิชย์ (เชี่ยวชาญต่อเส้นเลือด) และนายแพทย์ สัตตกร เหล่าชัย (เชี่ยวชาญต่อท่อไต) เป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้และคณะแพทย์ศัลยกรรม มี แพทย์หญิง ปิยรัตน์ โรจสง่า แพทย์อายุรกรรมโรคไต เป็นผู้ดูแล และมีนางสาวอำนวยพร นามมัน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการประจำหอผู้ป่วย ICU ศัลยกรรม พยาบาลผู้ดูแลและคณะที่ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี

ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยได้พูดถึงความรู้สึกที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในครั้งนี้ว่าเปรียบเหมือนได้ชีวิตใหม่ เพราะต้องทนทุกข์ทรมานมานานถึง 6 ปีแล้วในการบำบัดล้างไตทางหน้าท้อง

นายแพทย์ ธรรมนูญ วิสิฐธนวรรธ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี เปิดเผยว่า ศูนย์รับบริจาคอวัยวะโรงพยาบาลอุดรธานีได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 ได้รับบริจาคอวัยวะที่สำคัญจากผู้ป่วยสมองตายและผู้เสียชีวิตที่ตนเองได้ยื่นแสดงความจำนงไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่หรือผู้ที่ญาติผู้ป่วยสมองตายใกล้จะเสียชีวิตได้มอบอวัยวะให้กับทางโรงพยาบาลอุดรธานี สมองตายก็คือภาวะที่สมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานโดยสิ้นเชิงและถาวรไม่มีหนทางที่จะเยียวยารักษาได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เพื่อนำอวัยวะที่สำคัญประกอบไปด้วย หัวใจ ตับ ดวงตา ไต ปอด และอวัยวะทุกส่วนของร่างกายที่ใช้ประโยชน์ได้

โดยที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตผู้ป่วยสมองตายได้บริจาคอวัยวะ จำนวน 216 ราย สามารถนำอวัยวะหัวใจ ตับ ดวงตา ไต ปอด และอวัยวะทุกส่วนของร่างกายไปปลูกถ่ายให้เพื่อนมนุษย์ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะได้กว่า 265 ราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรกหากสามารถปลูกถ่ายได้

สำหรับโรงพยาบาลอุดรธานีได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนไตรายแรกวันที่ 21 กันยายน 2556 โดยอาจารย์ไพบูลย์ จิตประไพ อาจารย์ธวัชชัย อาจารย์ธีวรรณ เดินทางมาเพื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากพี่สาวอายุ 32 ปี มอบให้น้องชายอายุ 28 ปี เป็นการดำเนินงานโครงการดำเนินงานผ่าตัดไตรายแรกของโรงพยาบาลอุดรธานี Living related kidney transplantion

ทั้งนี้ โรงพยาบาลอุดรธานีต้องการพัฒนาศักยภาพด้านตติยภูมิ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการปลูกถ่ายไต จึงเปิดให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจากผู้บริจาคที่มีชีวิตรายแรก โดยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมกันประเมินข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วยและอนุมัติให้ดำเนินการ ผลการผ่าตัดดีมาก ผู้ป่วยมีปัสสาวะออกทันทีหลังการผ่าตัดแสดงว่าไตมีการทำงานปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ปัจจุบันนี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังกันมาก ข้อมูลจากสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ คาดว่ามีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีผู้ที่เป็นไตวายระยะสุดท้าย 200,000 คน ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยรวมกว่า 10 ล้านคน รวมทั้งโรคนิ่วในไตที่คนไทยเป็นกันมาก

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เส้นเลือดฝอยในไตและเนื้อไตเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โรคนี้จึงเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงียบทำลายคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ต้องอาศัยการล้างไตช่วยระบายของเสียออกทางหน้าท้องวันละ 3-4 ครั้ง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งไปตลอดชีวิต การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนไต โดยใช้ไตบริจาคจากญาติ 1 ข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากสมองตาย

นายแพทย์ ธรรมนูญกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันโรคไตวาย ขอแนะนำให้ประชาชนชาวอุดรธานีลดการรับประทานอาหารรสชาติเค็ม หรือการเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะจะทำให้ได้รับเกลือโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ ไตต้องทำงานหนักเพี่อขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักอย่าปล่อยตัวให้อ้วน และตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาภาวะผิดปกติ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะมีการตรวจปัสสาวะดูการทำงานของไตด้วย

ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้ว ขอให้พบแพทย์ตรวจรักษาตามนัด รับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไตเสื่อม และควรสังเกตตัวเอง หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นฟองมาก ปัสสาวะบ่อยหรือมีเศษกรวดทรายปนออกมา หรือมีอาการบวมที่หน้าตอนตื่นนอน ปวดหลัง อาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคไต หรือนิ่วในไต ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษา เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรังจนกลายเป็นไตวายตามมา

ทั้งนี้ โรงพยาบาลอุดรธานีและภาคีเครือข่ายจัดรณรงค์ใหญ่ “รวมพลัง ลดโรคไต ไม่กินเค็ม” เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายจากโรคไต จัดบริการตรวจสุขภาพ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ประชาชน รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต
กำลังโหลดความคิดเห็น