ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - อย่าตื่นตูม! วันนี้วันเดียวเชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวรวมนับสิบครั้ง ขนาดแรงสุด 4.2 แมกนิจูด อย่างไรก็ตามพบว่าทั้งหมดและที่เกิดขึ้นตลอดเดือนที่ผ่านมารวมกว่าร้อยครั้งเป็นเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วตามลักษณะธรณีวิทยาที่ชั้นใต้ดินมีรอยเลื่อนขนาดเล็กๆ ย้ำอย่าตื่นตระหนก พร้อมชี้แผ่นดินไหวใหญ่ไม่เคยมีสัญญาณใดๆ บ่งบอกล่วงหน้า
วันนี้ (15 ม.ค. 60) สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.35 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาดแรงสั่นสะเทือน 4.2 แมกนิจูด ที่ความลึก 4 กิโลเมตร มีจุดศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอเมืองเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่าพบความเสียหายใดๆ โดยช่วงก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 1.8 แมกนิจูด เวลาประมาณ 02.28 น. ที่อำเภอเชียงดาว และเวลาประมาณ 13.24 น.เกิดแผ่นไหวขนาด 2.0 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่วาง
ขณะที่ในช่วงเวลาหลังจากนั้นยังเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง รวมกันอีกเกือบ 10 ครั้ง เช่น เวลาประมาณ 15.43 น. ขนาด 1.9 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่วาง, เวลาประมาณ 15.52 น. ขนาด 2.0 แมกนิจูด ที่อำเภอจอมทอง, เวลาประมาณ 16.23 น. ขนาด 3.9 แมกนิจูด ที่อำเภอจอมทอง, เวลาประมาณ 16.35 น.ขนาด 2.4 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่วาง
เวลาประมาณ 17.08 น. ขนาด 2.2 แมกนิจูด ที่อำเภอจอมทอง, เวลาประมาณ 19.08 น. ขนาด 1.5 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่วาง และล่าสุดเวลาประมาณ 20.14 น. ขนาด 1.2 แมกนิจูด ที่อำเภอแม่วาง
ทั้งนี้ นายอดิศร ฟุ้งขจร ผู้อำนวยการสำนักงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ระบุว่า ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2559 จนถึงวันนี้มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง จ.เชียงใหม่ และหลายพื้นที่ของเชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวรวมกันมากกว่า 100 ครั้งแล้ว
แผ่นดินไหวขนาด 4.2 แมกนิจูด ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันนี้นับเป็นขนาดที่แรงที่สุด แต่ยังจัดว่าเป็นเพียงแผ่นดินไหวขนาดเบาเท่านั้น โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยและถี่ในช่วงนี้เป็นเรื่องปกติ จากข้อมูลธรณีวิทยาในพื้นที่อำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง มีรอยเลื่อนขนาดเล็กหรือเรียกว่ารอยเลื่อนบริวารหรือรอยเลื่อนแขนงของรอยเลื่อนกลุ่มแม่ทา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลัก ทั้งนี้อาจนับเป็นผลดีที่รอยเลื่อนบริวารเหล่านี้ได้ระบายพลังออกมา ซึ่งแตกต่างจากรอยเลื่อนหลักที่จะมีขนาดความรุนแรง
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็นประจำในช่วงนี้ทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในอำเภอแม่วาง และอำเภอจอมทอง ไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกใดๆ โดยเป็นการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ เพราะข้อมูลลักษณะทางธรณีวิทยานั้น พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่งที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหินที่อยู่ข้างล่างมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน แต่เป็นรอยเลื่อนปกติที่มีมุมต่ำและเอียงไม่มาก เมื่อมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอาจจะส่งผลทำให้เกิดการเคลื่อนตัวบ้างเป็นครั้งคราว
โดยอาจจะเกิดเป็นห้วงๆ ที่มีความถี่ แล้วทิ้งช่วงไปนานกว่าที่จะกลับมามีการเคลื่อนตัวอีก ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดเป็นประจำในท้องถิ่นนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใดทั้งสิ้น
พร้อมเชื่อว่าแผ่นดินไหวในช่วงนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เพราะจากข้อมูลการศึกษาและสถิติที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าเป็นเช่นนั้น โดยทุกครั้งที่ผ่านมาที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นเลยโดยที่ไม่มีสัญญาณแจ้งเตือนใดๆ ล่วงหน้า ซึ่งจากข้อมูลสถิติดังกล่าวน่าจะพอทำให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ในระยะเวลาอันใกล้นี้