xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสามร้อยยอดครวญพิษน้ำท่วมทำสับปะรดจมน้ำเน่าเสียหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เกษตรกรสามร้อยยอดครวญได้รับผลกระทบจากอิทธิพลลมมรสุมที่ทำฝนตกหนัก และน้ำท่วม ทำสับปะรดในไร่ถูกน้ำไหลท่วมขัง ส่งผลทำให้หน่อสับปะรดเริ่มเน่าเสียหาย นอกจากนี้ ปลาที่เลี้ยงไว้ภายในร่องสวนสับปะรดก็ถูกน้ำท่วมจนลูกปลาที่เลี้ยงไว้ลอยไปกับน้ำได้รับผลกระทบเช่นกัน

วันนี้ (11 ม.ค.) จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายหลายพื้นที่ โดยที่หมู่บ้านไร่เจริญ หมู่ที่ 8 ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แปลงปลูกสับปะรด และบ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกรถูกน้ำท่วมขังตีเป็นมูลค่าความเสียหายร่วมแสนบาท

นายบรรจง ศิลพูล เจ้าของแปลงสับปะรด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นนาข้าว แต่เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประสบกับปัญหาภัยแล้งจึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากนาข้าวมาปลูกสับปะรด และมะพร้าวแทนในพื้นที่ 10 ไร่ โดยได้ลงทุนซื้อหน่อสับปะรดไปจำนวน 5 หมื่นต้น ซึ่งก็ลงหน่อไปได้ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ใส่ปุ๋ย ใส่ยาไป ตีเป็นมูลค่าก็ร่วมแสนบาท แต่ตอนนี้ต้องมาถูกน้ำท่วมก็น่าจะเสียหายเกือบทั้งหมด เพราะหน่อสับปะรดถ้าแช่น้ำเกิน 1 วัน ก็จะทำให้หน่อเน่า และใช้ไม่ได้เลย

น.ส.อำพันธ์ ศิลพูล กล่าวว่า ตนได้ลงทุนขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลาไว้ระหว่างร่องสับปะรดของนายบรรจง ซึ่งเป็นพี่ชาย และได้ลงปลานิลไว้ จำนวน 5,000 ตัว ซึ่งลงไปได้ประมาณเดือนกว่าๆ และปลาก็เริ่มโตเป็นตัวใหญ่ได้ประมาณ 2 นิ้วแล้ว แต่หลังจากที่น้ำไหลเข้าท่วมแปลงสับปะรดของพี่ชายก็ทำให้ปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ไปกับน้ำทั้งหมด

ด้านนายอำไพ พูลน้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลไร่เก่า กล่าวว่า พื้นที่ทำการเกษตรของหมู่บ้านก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวเกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกพืชไร่ พืชสวนแทน ก็ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ซึ่งตนเองได้ออกสำรวจเพื่อเตรียมรายงานให้ทางอำเภอทราบต่อไป และคาดว่าถ้าคืนนี้ฝนไม่ตกลงมาอีกน้ำก็น่าจะลดลง อาจจะยังพอมีพืชผลบางส่วนที่พอจะฟื้นตัวได้บ้าง

ในขณะที่ นายชัยณรงค์ หงส์ทอง เกษตรอำเภอสามร้อยยอด กล่าวว่า ทางเกษตรอำเภอได้ออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบ้างแล้วโดยนำแบบ กสท.1 ไปมอบไว้ให้แก่กำนัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอรายงานจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ก่อน แล้วทางอำเภอจะรายงานให้จังหวัดทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องรอให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หลังจากนั้น จึงจะให้การช่วยเหลือเกษตรกรตามขั้นตอนได้

ส่วนหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรต่อทางอำเภอไว้ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติ ถ้ามาขึ้นทะเบียนหลังจากนี้จะไม่ได้ ส่วนการช่วยเหลือไม่เกินรายละ 30 ไร่ โดยนาข้าวชดเชยไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ชดเชยไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนชดเชยไร่ละ 1,690 บาท และต้องเน้นย้ำเกษตรกรว่าจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติเท่านั้นจึงจะได้รับการช่วยเหลือ





กำลังโหลดความคิดเห็น