บุรีรัมย์ - ชาวบ้านไผ่ลวก จ.บุรีรัมย์ อนุรักษ์ภูมิปัญญาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย นึ่งข้าวเหนียวทำข้าวหมากหวานอาหารไทยพื้นบ้านขายริมถนน เป็นอาชีพเสริมหลังทำนา หมู่บ้านเดียวในจังหวัด สร้างรายได้รายละ 300-500 บาท/วัน หากเป็นช่วงเทศกาลมีนักท่องเที่ยวแวะซื้อเป็นของฝากคึกคัก ทำให้มีรายได้พุ่งวันละ 1,000-2,000 บาท
วันนี้ (10 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านไผ่ลวก ม.10 ต.ชุมแสง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ กว่า 20 ครัวเรือน พากันอนุรักษ์ภูมิปัญญาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ทำข้าวหมากหวานอาหารไทยพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ ขายเป็นอาชีพเสริมหลังว่างเว้นจากการทำนา นำมาวางขายริมถนนสาย อ.สตึก-กระสัง สร้างรายได้วันละ 300-500 บาท/ราย หากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันจะมีนักท่องเที่ยวแวะซื้อเป็นของฝาก ทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาท/ราย และเป็นหมู่บ้านเดียวที่ยังอนุรักษ์การทำข้าวหมากในจังหวัดบุรีรัมย์
โดยวิธีการทำข้าวหมาก คือ นำข้าวสารซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวประมาณ 1 ปีเพราะหากเป็นข้าวเหนียวใหม่หากนำไปทำข้าวหมากจะเละ จากนั้นล้างน้ำให้สะอาด แล้วนึ่งให้สุก ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด
ต่อจากนั้นนำไปผสมกับลูกแป้งข้าวหมากที่บดละเอียด (อัตราส่วน ลูกแป้ง 1 ลูกต่อข้าว 1 กิโลกรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ปิดภาชนะให้มิดชิด เก็บไว้ในที่แห้งและเย็นไม่ควรให้โดนแดด หมักทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะได้ข้าวหมากที่มีเม็ดข้าวนุ่ม หอม และมีกลิ่นของแอลกอฮอล์เล็กน้อย
เสร็จเรียบร้อยนำไปห่อใส่ใบตองคล้ายกับขนมสังขยาขายห่อละ 2.50 บาท 4 ห่อ 10 บาท ส่วนรสชาติของข้าวหมากจะมีรสหวาน และมีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อย
ทั้งนี้ ข้าวหมากเป็นอาหารไทยที่มีมาแต่โบราณ สมัยก่อนนิยมรับประทานข้าวหมากทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุเพราะเชื่อมีสรรพคุณให้ร่างกายแข็งแรง ระบบขับถ่ายดี แต่คนในยุคปัจจุบันนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรับประทาน เพราะข้าวหมากเป็นอาหารที่เกิดจากการหมักข้าวในวิถีแบบพื้นบ้านของไทย ทำได้ทั้งข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวดำ
การทำข้าวหมากเกิดมาจากการที่คนไทยรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก และในบางครั้งหุงข้าวเหนียวมาแล้วรับประทานไม่หมดจึงค้นคิดวิธีการที่จะยืดอายุการเก็บข้าวไว้ให้รับประทานได้นานขึ้นซึ่งถือเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง
นางสุนีย์ พะนิรัมย์ อายุ 31 ปี และนางบุญตา กำลังรัมย์ อายุ 64 ปี ชาวบ้านบ้านไผ่ลวก กล่าวว่า ได้อนุรักษ์สืบทอดการทำข้าวหมากมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เมื่อก่อนจะทำกินในครอบครัว ต่อมาเริ่มทำออกมาวางขายสืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นหมู่บ้านเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ยังคงอนุรักษ์การทำข้าวหมาก ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก
การทำข้าวหมากขายเป็นการสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านเป็นอย่างดีอีกด้วย โดยหากเป็นวันปกติก็จะมีรายได้จากการขายข้าวหมากเฉลี่ยคนละ 300-500 บาท หากเป็นเทศกาลก็จะขายได้วันละ 1,000-2,000 บาท นางสุนีย์กล่าวในตอนท้าย