xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมหาสารคามตักบาตรบนสะพานไม้แกดำคึก ถวายเป็นพระราชกุศล ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มหาสารคาม - วันหยุด นักท่องเที่ยวพาครอบครัวนำข้าวสารอาหารแห้งแห่ตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล ณ สะพานไม้แกดำคึกคัก พร้อมสัมผัสลมหนาวและเดินเที่ยวชมธรรมชาติบนสะพานไม้แกดำอันซีนยอดฮิตของ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม

เช้าวันนี้ (25 ธ.ค.) ที่สะพานไม้แกดำ ต.แกดำ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดใกล้เคียงจำนวนมากใช้เวลาวันหยุด เดินทางมาตักบาตรเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 บนสะพานไม้ที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินของ 2 หมู่บ้าน คือระหว่างฝั่งบ้านหัวขัว และฝั่งวัดดาวดึงส์

สำหรับสะพานไม้แกดำ ในช่วงเย็น และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวที่สะพานไม้แกดำตลอดทั้งวัน และทางชุมชนได้จัดให้มีการตักบาตรในหยุดเสาร์-อาทิตย์แรกของต้นเดือน และเสาร์-อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน ซึ่งถือเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชุมนท้องถิ่น และเมื่อหลังทำบุญตักบาตรเสร็จ นักท่องเที่ยวต่างพากันเดินเล่นบนสะพานไม้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับสะพานไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี

นอกจากเดินชมสะพานนักท่องเที่ยวยังสามารถชมต้นบัวหลวงที่โผล่พ้นน้ำ ที่ถือเป็นความงดงามที่สรรค์สร้างโดยธรรมชาติ พร้อมชมนกนานาชนิดที่บินโฉบลงมาหาอาหารในแหล่งน้ำ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สะพานไม้แห่งนี้ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน สะพานไม้แกดำคาดมีอายุเกือบ 100 ปี โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากชาวบ้านได้ร่วมใจสร้างสะพานเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สัญจรไปมาระหว่างสองหมู่บ้านที่ถูกหนองแกดำกั้นขวาง ซึ่งลักษณะของสะพานแต่เดิมจะใช้ไม้ไผ่เป็นลำวางไว้เท่านั้น และมีความคดเคี้ยวไปมาตามความตื้นของน้ำในหนอง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507 คันดินกั้นน้ำของหนองแกดำขาดเนื่องจากรับน้ำไม่ไหว ชลประทานจึงมีโครงการถมดินซ่อมแซมจนใช้ได้ และมีการขุดขยายเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้มีการตั้งโรงเรียนแกดำอนุสรณ์ขึ้น ในปีนี้เองที่มีการได้สร้างสะพานทั้งหมดจากน้ำแรงชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งหนองแกดำ จนต่อมาถูกขนานนามอีกชื่อว่าเป็น “สะพานเชื่อมใจ”

ปัจจุบันสะพานไม้ได้ถูกปรับปรุงจนมีขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 453.5 เมตร ทอดจากชายฝั่งหนองแกดำด้านวัดดาวดึงส์แกดำไปยังหมู่บ้านหัวขัว คำว่า ขัว ภาษาอีสานแปลว่า สะพาน บ้านหัวขัว คือบ้านหัวสะพาน
กำลังโหลดความคิดเห็น