xs
xsm
sm
md
lg

ปีละ 60 ล้าน! ชาวโคกว่าน บุรีรัมย์ผลิต “ข้าวเม่า” ขายทั้งหมู่บ้าน-ปีใหม่ออเดอร์เพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านโคกว่าน อ.นางรอง  จ.บุรีรัมย์ ทั้งหมู่บ้านกว่า 100 ครัวเรือน สืบทอดภูมิปัญญาทำข้าวเม่าจากข้าวเปลือกปลูกเองมาสร้างมูลค่าเพิ่มขาย ทำรายได้เข้าหมู่บ้านปีละกว่า 60 ล้านบาท วันนี้ ( 21 ธ.ค.)
บุรีรัมย์ - ชาวบ้านโคกว่าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ทั้งหมู่บ้านกว่า 100 ครัวเรือนสืบทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย ทำข้าวเม่าจากข้าวเปลือกปลูกเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขาย สามารถสร้างรายได้เข้าหมู่บ้านครัวเรือนละ 4-5 แสนบาท รวมปีละกว่า 60 ล้านบาท อีกทั้งคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 2 “ข้าวเม่าไรซ์เบอร์รี” เผยปีใหม่มีออเดอร์เพียบหลายร้อยกิโลฯ

วันนี้ (21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านโคกว่าน ม.1 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 100 ครัวเรือน ได้สืบทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่า ตายายทำข้าวเม่าจากข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเจ้าหอมมะลิ หรือข้าวไรซ์เบอร์รี ที่ปลูกเอง แต่เมื่อนำข้าวเปลือกไปขายได้ราคาต่ำไม่คุ้มทุน จึงนำมาแปรรูปเป็นข้าวเม่าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

โดยขั้นตอนการทำข้าวเม่า จะนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 1-2 คืนเพื่อให้เมล็ดข้าวอ่อนนุ่ม จากนั้นนำไปคั่วใส่กระทะเตาถ่านที่มีความร้อนสูง ใช้เวลาคั่วประมาณ 5-10 นาทีเพื่อให้ข้าวเปลือกสุกและมีกลิ่นหอม เมื่อข้าวเปลือกสุกได้ที่ก็ตักใส่ตาข่าย ก่อนนำไปตำด้วยกระเดื่องที่ชาวบ้านในหมู่บ้านออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อช่วยในการทุ่นแรง จากเดิมจะใช้วิธีตำด้วยมือ

เมื่อตำเสร็จนำไปร่อนใส่ตะแกรงเพื่อคัดแยกเอากากหรือเปลือกข้าวออก จะได้ข้าวเม่าที่พร้อมส่งขาย หรือนำไปแปรรูป เป็นข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าทอด ข้าวเม่าหมี่ หรือเมนูอื่นๆ ตามความต้องการ

สำหรับราคาขาย หากเป็นข้าวเม่าดิบราคากิโลกรัมละ 45-50 บาท หากทำเป็นข้าวเม่าทรงเครื่อง หรือแปรรูปเป็นข้าวเม่าเมนูต่างๆ แล้วขายกิโลกรัมละ 80-100 บาท ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการขายข้าวเม่าเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าหมู่บ้านปีละกว่า 60 ล้านบาท

นางวิไล ปลีนารัมย์ ประธานกลุ่มสตรีแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวเม่าบ้านโคกว่าน กล่าวว่า เดิมสมัยปู่ย่าตายายจะทำข้าวเม่าเพื่อบริโภคในครัวเรือน นำไปถวายวัด หรืองานบุญต่างๆ แต่พอมีผู้นิยมบริโภคจึงได้พากันทำเป็นอาชีพต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อก่อนใช้วิธีตำด้วยมือแต่ปัจจุบันได้ประยุกต์ใช้กระเดื่องควบคุมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องทุ่นแรงทำให้สามารถตำข้าวเม่าได้วันละ 100 กิโลกรัม ซึ่งข้าวเม่าของบ้านโคกว่านได้รับความนิยมทั้งจากผู้บริโภค และพ่อค้าแม่ค้าจากต่างจังหวัดมารับซื้อถึงหมู่บ้านเพื่อนำไปขายต่อ ทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเม่าปีละ 4-5 แสนบาท

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองโสน กล่าวว่า บ้านโคกว่านเป็นหมู่บ้านที่ทำข้าวเม่ามาช้านานตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากเมื่อก่อนตำบริโภคแบ่งปันกันและไปงานบุญต่างๆ แต่พอมีผู้นิยมซื้อจึงทำเป็นอาชีพ ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน

ด้วยรสชาติและคุณภาพข้าวเม่าบ้านโคกว่าน ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับประเทศประเภท “ข้าวเม่าไรซ์เบอร์รี” ซึ่งในส่วนของ อบต.ได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการจัดหาตลาด บรรจุภัณฑ์ และตราสัญลักษณ์หรือแบรนด์ของตัวเอง

ทั้งนี้ ทาง อบต.ยังได้ร่วมกับชาวบ้านเตรียมจัดงาน “เทศกาลข้าวเม่ากินข้าวเม่ารับลมหนาว” เป็นปีแรก ในวันที่ 29-30 ธันวาคม 2559 ที่จะถึงนี้ด้วย เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของข้าวเม่าที่ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้าวเม่าของบ้านโคกว่านด้วย โดยภายในงานก็จะมีการจัดประกวดข้าวเม่า ตำข้าวเม่าแบบโบราณ สาธิตการทำข้าวเม่า ชิมข้าวเม่าฟรีกว่า 500 กิโลกรัม และกิจกรรมอื่นๆ








กำลังโหลดความคิดเห็น