xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA อบรมการใช้งาน “ระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่” ใน 4 จังหวัด ตอ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

GISTDA  เปิดอบรมการใช้งาน”ระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่”
ศูนย์ข่าวศรีราชา - GISTDA เปิดอบรมการใช้งานระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ ใน 4 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อนำข้อมูลไปประยุกต์ปลูกพืชในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

วันนี้ (16 ธ.ค.) นายวรญาณ บุญณราช นายอำเภอศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการใช้งานระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดระยอง ณ ห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (สภ.) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายบุญชุบ บุ้งทอง ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

นายบุญชุบ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งแนวทางการดำเนินงานตามแผนการผลิตข้าวและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2559/60 โดยให้จังหวัดติดตามพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้นำระบบภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ระบบ G-Agro ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มาใช้ในการติดตามคาดการณ์การเพาะปลูกข้าวของในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศสามารถเข้าถึง และใช้งานระบบ G-Agro ได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการดำเนินงานวางแผนการเพาะปลูกข้าว หรือพืชการเกษตรชนิดอื่น วางแผนด้านการตลาดให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดตามเป้าหมายของการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่สมดุลต่อความต้องการของตลาด ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

นายบุญชุบ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จะสนับสนุนและให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อมูลการตลาดว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใด โดยจะประมวลข้อมูลทั้งหมด เช่น ชลประทานเข้าถึงไหม ชนิดของดินเป็นอย่างไร เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ตัดสินใจจะเพาะปลูกพืชชนิดใดอย่างไรต่อไป

ด้าน นายวรญาณ กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ให้แก่การเกษตรเท่าที่ควร โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการประยุกต์กับการเกษตรของจังหวัดได้เป็นอย่างดี โดยระบบ G-Agro จะมีประโยชน์ในการใช้ติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าว เพื่อคาดการณ์ผลผลิตตามขอบเขตการปกครอง ประเมินวันที่จะเก็บเกี่ยว และปริมาณผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละพื้นที่ และช่วงเวลา โดยถือว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์ต่อการเพาะปลูกพืชต่างๆ ของจังหวัดชลบุรี
กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 4 จังหวัด เช่น ตราด จันทบุรี ระยอง และชลบุรี ร่วมอบรม
เป็นการนำระบบข้อมูลสารสนเทศ มาประยุกต์ในการเพาะปลูก
ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ จาก 4 จังหวัด
กำลังโหลดความคิดเห็น