ศรีสะเกษ- จ.ศรีสะเกษ รุกปล่อยคาราวานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ช่วงปีใหม่ 2560 ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เผยวางมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมุ่งเน้นใช้การบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง พร้อมมุ่งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน
วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน พร้อมปล่อยขบวนคาราวารณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ภายใต้แนวคิด ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และร่วมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 นี้ โดยมี นายเวโรจน์ สายทองแท้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงาน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และภาคีเครือข่ายด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน
นายเวโรจน์ สายทองแท้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และประชาชนใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีชุมทางด้านการคมนาคมที่สำคัญ เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมตามทางหลวงแผ่นดินสายหลัก ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-อุบลราชธานี) ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผลทำให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนบนถนนสายต่างๆ มีเป็นจำนวนมาก และมีการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ
จากสถานการณ์ดังกล่าว จ.ศรีสะเกษ จึงได้วางมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมุ่งเน้นใช้การบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) บูรณาการการดำเนินงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึก และความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชน
ตลอดจนให้ความสำคัญในระดับพื้นที่ โดยการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างเข้มแข็งต่อไป