xs
xsm
sm
md
lg

ผวจ.ชลบุรีนำพสกนิกรวางพานพุ่มวันพระบิดาแห่งฝนหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นำพสกนิกรวางพานพุ่มดอกไม้สด ร.๙ วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ด้านชาวชลบุรีเกือบ 1,000 คน เข้าคิวแต่ตี 4 รอแลกเหรียญฝนหลวง 4,000 ชุด

วันนี้ (14 พ.ย.) นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสุภาพร เทียนไชย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี เป็นประธานวางพานพุ่มดอกไม้สดต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน อาสาสมัครฝนหลวงที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้รับบริการฝนหลวง รวมกว่า 500 คน แต่งชุดขาวดำร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน จนเกิดเป็นเทคโนโลยีฝนหลวงที่ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้แก่พสกนิกรของพระองค์ที่ประสบภัยแล้ง และเป็นองค์ประกอบในหารบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจวบจนปัจจุบัน

วันนี้ จึงนำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสักการะ และแสดงความอาลัย เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้ แด่พระองค์อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ สมดั่งสมัญญานาม “สมเด็จพระภัทรมหาราช”

นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานยังมีนิทรรศการที่พระองค์ท่านได้ริเริ่มโครงการ จนถึงปัจจะบันนี้ จนเป็นที่ยกย่อง และได้รับรางวัลมากมายจากทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ข่าวรายงานด้วยว่า ชาวจังหวัดชลบุรีจำนวนเกือบพันคน มาเข้าคิวเพื่อรอแลกเหรียญ 50 ปีฝนหลวงพระราชทาน เหรียญเฉลิมพระชนม 80 พรรษา ร.๙ เหรียญรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินฯ ของกรมธนารักษ์ ชุดละ 60 บาท จนเกิดความโกลาหล โดยชาวบ้านบางส่วนมาเข้าคิวรอกันตั้งแต่เที่ยงคืน จนทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องมีการจัดทำบัตรคิวกันเองเนื่องจากบัตรคิวที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ชลบุรี จัดเตรียมไว้มีไม่เพียงพอ

นายอาทร ยงกิตติธรากุล เจ้าหน้าที่จัดผลประโยชน์ ชำนาญการ รักษาราชการแทน ธนารักษ์พื้นที่ชลบุรี เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดชลบุรี ได้รับโควตามาทั้งสิ้น 4,000 ชุด โดยได้แบ่งคิวผู้ที่จะมาแลกเหรียญไว้ช่วงเช้า 400 คน และช่วงบ่าย 400 คน รวมวันละ 800 คน หากมีประชาชนมาเข้าคิวกันมากเกิน 800 คิว ก็ต้องทำความเข้าใจให้มาวันรุ่งขึ้นแทน โดยแต่ละวันจะจัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการประชาชนเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวาย

ด้าน นายสัมพันธ์ คุ้มครอง อายุ 60 ปี ชาวบ้านจากตำบลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา ที่มาแลกเหรียญที่ระลึกในครั้งนี้เปิดเผยว่า ตนเองเดินทางมาตั้งแต่ตี 4 เพราะต้องการเหรียญชุดนี้เพื่อระลึกถึงในหลวง ร.๙ ที่ผ่านม าตนเองจะทำความดีเพื่อถวายพระองค์ท่าน ตนเองไม่เคยคิดว่าพระองค์จะทรงงานหนักขนาดนี้ แต่พอได้ดูสารคดีที่พระองค์เสด็จภาคเหนือจึงรู้ว่าพระองค์ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรจริงๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น