ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - แกะรอย BGF พม่า ขู่ปิดชายแดนริมเมย ตอบโต้ทางการไทยคุมเข้มคนเข้าออกผ่านท่าข้ามฯ สะพัดกระทบเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์-กาสิโนใหญ่ฝั่งเมียวดี ที่เคยข้ามกันได้ตลอด 24 ชม. แถมโดนมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันผ่านท่อด้วย
วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้พื้นที่ชายแดนแม่สอด จ.ตาก กำลังปั่นป่วนหลังจากนายพลหม่องชิดตู่ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA หนึ่งในกองกำลังพิทักษ์ชายแดนพม่า (BGF) ที่มีอิทธิพลแถบรัฐกะเหรี่ยง ส่งคลิปให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบางสำนัก ขู่ปิดท่าข้ามริมน้ำเมยตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ตลอดแนวในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ตอบโต้ฝ่ายความมั่นคงไทยที่เข้มงวดการเข้าออกชายแดน ผ่านท่าข้ามต่างๆ ได้เฉพาะช่วงเวลา 05.30-20.30 น.
หม่องชิดตู่ระบุว่า ไม่อยากให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเลย แต่เมื่อคุยกันแล้วไม่เข้าใจก็ต้องปิด ที่ผ่านมานั้นคนท้องถิ่นไทย-พม่ามีความรักความเข้าใจอยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มาวันนี้เมื่อฝ่ายไทยมีการปรับเปลี่ยนกำลังทหารก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงต้องมีนโยบายห้ามข้ามแดนในช่องทางธรรมชาติ-ท่าข้ามที่เคยไปมาหาสู่กันมานานหลายสิบปี เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมานานแล้ว
ผู้นำ BGF กล่าวเพิ่มเติมว่า การปิดท่าข้ามธรรมชาติโดยกำหนดเวลาจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในท้องถิ่น และในระดับชาติ เกิดความเสียหายเป็นแสนล้านต่อปี อยากจะให้ฝ่ายไทยทบทวนเรื่องนี้ อย่าให้ต้องมีการปิดแดนกันเลย โดยหากฝ่ายไทยปิดจริง BGF ก็จะปิดตั้งแต่ เขตรับผิดชอบด่านเจดีย์สามองค์-ไปจนถึงบ้านแม่ตะวอ ทุกจุดทุกท่าข้าม แบบไม่ต้องมีการทำมาหากินกันเลย
“เราชนชาวกะเหรี่ยง กินแค่ข้าวกับปลาร้าก็ได้แล้ว”
แฉเบื้องหลังคำขู่
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระบุว่า มาตรการเข้มงวดคนเข้าออกชายแดนแม่สอด โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้า แต่จะส่งผลกระทบต่อเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่มีชนกลุ่มน้อยในพม่าบางกลุ่ม ร่วมกับนักลงทุนไทย ลงทุนก่อสร้างในฝั่งเมียวดีซึ่งภายในมีทั้งโรงแรมที่พัก กาสิโน ร้านอาหาร ฯลฯ พร้อมสรรพ
โดยเฉพาะ 3 โครงการหลักที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเมยฝั่งเมียวดี เขตอิทธิพลของ BGF ตรงข้ามบ้านท่าอาจ หมู่ 3 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ที่มีคลัง 7 หรือท่า 10 ท่าขนส่งสินค้าริมน้ำเมยอยู่ด้วย คือ โครงการกาแล็กซี ที่อยู่แถบคุ้งน้ำคอกช้างเผือก (หัวบ้านท่าอาจ), เมียวดีคอมเพล็กซ์ ที่อยู่ตรงข้ามท่า 10 และโกลด์สตาร์ ที่อยู่บริเวณท้ายบ้านท่าอาจ รอยต่อกับบ้านวังตะเคียน
ช่วงที่ผ่านมาริมน้ำเมยบริเวณบ้านท่าอาจ อ.แม่สอด ถูกใช้เป็นช่องทางข้ามไปใช้บริการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ฝั่งเมียวดีทั้งวันทั้งคืน ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ โครงการเหล่านี้ยังมีรถบริการรับส่งจากสนามบินแม่สอด-ท่าข้าม ขณะที่ในหมู่บ้านท่าอาจก็มีตู้เอทีเอ็มคอยให้บริการพร้อมสรรพ ว่ากันว่าชาวบ้านบางรายแค่เปิดบ้านรับฝากรถก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือนเข้าไปแล้ว
และแน่นอนว่าหากมีการคุมเข้มคนเข้าออกชายแดนผ่านน้ำเมย ย่อมส่งผลกระทบต่อเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ฝั่งเมียวดี อย่างเลี่ยงไม่พ้น
“น้ำมันข้ามเมย” โดนห้ามก่อน
นอกจากนี้ การขนส่งน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล ผ่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ที่มีการส่งผ่านท่อ ลงเรือข้ามน้ำเมย ตามท่าข้ามต่างๆ ผ่านพื้นที่อิทธิพลของ BGF เข้าสู่พื้นที่ชั้นในของพม่า แทนการขนส่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 ที่ต้องผ่านระบบศุลกากรของทางการเมียนมา ตลอดนับสิบๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 2-4 พันล้านบาทต่อปี ก็ได้รับผลกระทบไม่สามารถค้าผ่านระบบเดิมได้ตั้งแต่ 26 ต.ค. 59 เป็นต้นมา
หลังประกาศกฎกระทรวงการขนส่งน้ำมัน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 เม.ย. 59 มีผลบังคับใช้ 26 ต.ค. 59 ซึ่งทำให้การขนถ่ายน้ำมันจากถังขนส่งผ่านท่อเพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ยกเว้นรถน้ำมันผู้ประกอบการไทย จำนวน 5 คันที่มีการผ่อนปรนให้นำออกได้เมื่อ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการระบุว่าเป็นการนำออกสารโซลเวนต์เท่านั้น
แน่นอนว่า มาตรการดังกล่าวทำให้ผลประโยชน์ค่าผ่านทางจากรถขนส่งน้ำมันจากชายแดนไทย เข้าพื้นที่ชั้นในของพม่าย่อมหดหายไปด้วยเช่นกัน
พ่อค้าสั่งน้ำมันสิงคโปร์ผ่านรัฐมอญแทน
อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมการส่งออกน้ำมันผ่านท่อดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชนกลุ่มน้อยในพม่าที่เคยได้ค่าผ่านทางมายาวนานเท่านั้น แต่ยังทำให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันผ่านด่านฯ แม่สอดที่เคยมีปีละ 2-4 พันกว่าล้านบาทหายไปด้วย
แหล่งข่าวพ่อค้าน้ำมันไทยในพม่าระบุว่า การห้ามส่งออกน้ำมันผ่านท่อตามนโยบายของกรมธุรกิจพลังงาน จะทำให้ยอดการส่งออกน้ำมันหายไปด้วยแน่นอน เพราะพ่อค้าพม่า ไม่สามารถรับภาระต้นทุนการนำเข้าผ่านระบบศุลกากรได้ ขณะนี้ผู้ค้าน้ำมันในพม่าก็หันไปสั่งซื้อน้ำมันจากรัฐมอญที่ได้สิทธิ์จากรัฐบาลกลาง นำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เข้ามาจำหน่ายแทนกันแล้ว
ขณะที่การส่งออกน้ำมันผ่านชายแดนไทย-พม่า, ไทย- สปป.ลาว ด้านจังหวัดเชียงราย มีการขนส่งผ่านพรมแดน อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และทางเรือแม่น้ำโขง ซึ่งมีจุดจำหน่ายน้ำมันเรือแม่น้ำโขงบริเวณท่าเรือห้าเชียง บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน ตรงสามเหลี่ยมทองคำ ติดกับประเทศพม่า และ สปป.ลาว ดูเหมือนยังคงส่งออกกันอยู่
น.อ.ชลทัย รัตนเรือง ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการเรือขนถ่ายวัตถุอันตรายเขตเชียงแสน กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีการส่งออกตามปกติ โดยมีการส่งน้ำมันมาเตรียมส่งออกแล้วเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงเป็นหลัก ส่วนระเบียบการนำเข้าส่งออกนั้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดูแล
ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียราย แจ้งว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 2559 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าชายแดนไปยังประเทศพม่ารวม 8,235.28 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าเชื้อเพลิง 11.90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนการค้ากับ สปป.ลาว มีการการส่งออกมูลค่า 13,494.99 ล้านบาท เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 4.33% น้ำมันเชื้อเพลิง 3.98% และตลอดปี 2558 ที่ผ่านมาด่านศุลกากรเชียงแสนแจ้งว่ามีการส่งออกน้ำมันดีเซล มูลค่า 842.57 ล้านบาท น้ำหนักกว่า 44,513 ตัน