อุบลราชธานี - สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรทุกอำเภอสีข้าวให้ชาวนาฟรี เพื่อนำข้าวสารมาวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคราคาถูกกว่าท้องตลาดเกือบ 10 บาท ขณะเดียวกันยังเร่งสีข้าวส่งเข้ากรุงเทพฯ และจังหวัดคู่ค้าในภาคใต้ เพื่อเร่งระบายปริมาณข้าวเปลือกออกจากจังหวัด รองรับข้าวเปลือกใหม่ที่จะเก็บเกี่ยวกลางเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ซึ่งมีปริมาณข้าวเหลือกินในจังหวัดกว่า 1.2 ล้านตัน
ที่หน้าป้อมยามถนนสถิตนิมานกาล เทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ชาวนาที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรจากอำเภอน้ำยืน อ.ตระการพืชผล อ.โพธิ์ไทร และข้าวจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มณฑลทหารบกที่ 22 นำข้าวสารหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว ข้าวกล้อง วางจำหน่ายให้ประชาชนในราคากิโลกรัมละ 23-26 บาท เพื่อดึงข้าวเปลือกออกจากระบบของโรงสีข้าว ไม่ให้ข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำต่อไป
วันนี้ (11 พ.ย.) กลุ่มชาวนานำข้าวสารมาวางจำหน่าย 5-6 ตัน และจะเปิดขายไปจนกว่าข้าวสารของชาวนาจะหมด โดยนายนรุทธิ์ อุทธา สหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรทุกแห่งในจังหวัด ได้เปิดจุดขายข้าวสารให้กับชาวนาที่ต้องการนำข้าวสารมาวางจำหน่ายเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต
นอกจากนี้ ทุกสหกรณ์การเกษตร ยังเร่งสีข้าวส่งไปขายให้เมืองคู่ค้าในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีการประสานขอข้าวสารไปวางจำหน่าย โดยแลกกับผลผลิตที่เป็นผลไม้ทางภาคใต้ รวมทั้งการส่งข้าวสารไปวางจำหน่ายใน 4 จุดสำคัญของกรุงเทพฯ เพื่อระบายข้าวในจังหวัดเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในพื้นที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกการตลาด เพราะตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะเริ่มมีข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียวออกสู่ตลาดจากการเก็บเกี่ยวของชาวนาทั้งจังหวัดกว่า 1.2 ล้านตันข้าวเปลือก
ส่วนที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางหลังเก่า ถ.อุปราช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดจุดจำหน่ายข้าวสารให้แก่เครือข่ายชาวนาจาก 25 อำเภอ ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนำข้าวที่เป็นผลผลิตของตนเองมาจำหน่ายทุกวันอาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.จนกว่าราคาข้าวในท้องตลาดจะปรับตัวดีขึ้น
ข้าวสารหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวกล้อง มีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ 23-26 บาท ตามเกรดของเมล็ดข้าว ถูกกว่าในท้องตลาดที่จำหน่ายที่กิโลกรัมละ 30-36 บาท ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รีมีราคาจำหน่ายตั้งแต่กิโลกรัมละ 50-70 บาท จึงมีประชาชนให้ความสนใจเลือกซื้อไปบริโภคจำนวนมาก เนื่องจากข้าวสารที่ชาวนานำมาจำหน่ายมีราคาถูกกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละเกือบสิบบาท