xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ เรียกถกสางปม “บึงราชนก” สิ้นสภาพ สตง.ชงงัด ม.44 ยึดคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ เมืองสองแควเรียก 5 หน่วยงานหลักที่ใช้ประโยชน์ใน “บึงราชนก” ถกด่วน หลัง สตง.ลงพื้นที่พบถูกใช้เป็นแหล่งละเลงงบประมาณกันเละเทะ เสนอนายกรัฐมนตรี ใช้ ม.44 ยึดคืนบริหารจัดการแหล่งน้ำ 4.8 พันไร่ ลั่น! สัญญาญเตือน ถ้ามีงานก่อสร้างเพิ่มในบึงฯ งานเข้าชัวร์

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยหลังจากเรียก 5 หน่วยงานหลักๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ “บึงราชนก” มาประชุมวานนี้ (7 พ.ย.) ที่ห้องสุพรรณกัลยา อบจ.พิษณุโลก ว่า เป็นการประชุมเพื่อรับทราบสถานะปัจจุบันของบึงราชนก หลังจาก สตง.ลงพื้นที่ตรวจสอบและเสนอให้ 1. บึงราชนกเป็นแหล่งรับน้ำ 2. ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการทั้งระบบ 3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณไปฟื้นฟูบึงราชนก

“นับเป็นสัญญาญเตือนแล้วว่าจังหวัดจะต้องปรับตัวอย่างไร ถ้าก่อสร้างเพิ่มภายในบึงราชนกก็ถือว่า งานเข้า! เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียด ถ้ากระทำการลงไปนับจากนี้ ขณะที่บางสิ่งที่ไม่ควรเดินหน้าต่อก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือไม่ต้องพิจารณา จึงเรียกประชุมหลายหน่วยงาน แต่คงไม่สามารถหาข้อยุติตอนนี้ได้”

ตามข้อมูลที่กรมเจ้าท่านำเสนอต่อที่ประชุมระบุว่า บึงราชนกมีพื้นที่ทั้งหมดตามเอกสารหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) จำนวน 4,865 ไร่ อบจ.พิษณุโลกขอใช้ประโยชน์จำนวน 2,466 ไร่, การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก 1,059 ไร่, มหาวิทยาลัยนเรศวร 1,000 ไร่, ประมงจังหวัดพิษณุโลก 241 ไร่ และกรมเจ้าท่า 100 ไร่

ปัจจุบันสภาพพื้นที่ในส่วน อบจ.ได้ใช้พื้นที่ไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์, การท่องเที่ยวและกีฬาไม่มีการพัฒนา ไม่ดูแลรักษาที่ดิน ถูกชาวบ้านบุกรุกเลี้ยงโค-เป็ด ฯลฯ, ม.นเรศวร ใช้พื้นที่ไปแล้ว 35 เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ 650 ไร่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีราษฎรบุกรุก, ประมงจังหวัดพิษณุโลกก่อสร้างอาคารปล่อยร้างและขุดบ่อไว้ 1 ไร่

ในฤดูน้ำหลากพบว่ามีน้ำป่าไหลบ่า เอ่อล้นแม่น้ำวังทอง แต่มวลน้ำจากแม่น้ำวังทอง ไม่สามารถไหลเข้าบึงราชนกได้ เนื่องจากมีคันดินขวางกั้นทั้งๆ อยู่ห่างแม่น้ำเพียง 600 เมตร อีกทั้งอยู่ห่างลำน้ำสาขาสาธารณะเพียง 80 เมตร และอยู่ใกล้คลองชลประทานของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน สภาพที่ดินโดยรอบถูกประชาชนบุกรุกทำกินจนตื้นเขิน เหลือแต่ผิวดินและผิวน้ำ จากเดิมบึงราชนกเคยลึกสุด 30 เมตร

เมื่อปี 2552 ครม.กำหนดให้ “บึงราชนก” เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ถือว่าติดอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้จัดลำดับตามความสำคัญของประเทศ จึงให้จังหวัดพิษณุโลกโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการทางกฎหมายประกาศเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ เพียงแต่วันนี้ยังไม่ได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 3-4 พ.ย. 59 ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อตรวจโครงการรัฐที่ส่อไปในทางทุจริต 2 จุดหลัก คือ บึงราชนก ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก พบว่าบึงราชนกกำลังกลายเป็นแหล่งละเลงงบประมาณของหน่วยงานรัฐ มีการขอใช้พื้นที่ภายในบึงสาธารณะ รวมทั้งนำงบประมาณไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างแล้วปล่อยทิ้งร้างจนแทบไม่เหลือสภาพแหล่งเก็บกักน้ำ

โดยผู้ว่าการสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ใช้มาตรา 44 ขอพื้นที่คืนแก่จังหวัด และดำเนินการแก้ไขทั้งระบบฟื้นฟูให้เป็นแหล่งรับน้ำ รับมืออุทกภัย โดย นรม.สั่งการให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล





กำลังโหลดความคิดเห็น