ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สวนสัตว์เชียงใหม่นำ 2 ลูกกระรอกดินข้างลายที่รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้ป่าดอยสุเทพเมื่อเดือน พ.ค. 59 ที่ผ่านมา ออกจัดแสดงให้เด็ก เยาวชนชื่นชมความน่ารักต้อนรับปิดเทอม หลังได้รับการฟูมฟักจนแข็งแรงสมบูรณ์และคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี พร้อมจัดกิจกรรมพิเศษให้เด็กนักเรียนร่วมประกวดตั้งชื่อชิงทุนการศึกษาชื่อละ 3,000 บาท
นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้สวนสัตว์เชียงใหม่ได้นำลูกกระรอกดินข้างลาย หรือ “กระจ้อน” จำนวน 2 ตัว ที่รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้ป่าดอยสุเทพ เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ออกมาจัดแสดงให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมได้ชมแล้ว ที่บริเวณส่วนจัดแสดง Chiang Mai Mini Zoo พร้อมมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับไฟป่าอีกด้วย เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน
วันเดียวกันผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่เปิดเผยว่า นอกจากการจัดแสดงลูกกระรอกดินข้างลายทั้ง 2 ตัวแล้ว ทางสวนสัตว์เชียงใหม่ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษประกวดตั้งชื่อให้กับลูกกระรอกทั้ง 2 ตัวด้วย โดยให้สิทธิเฉพาะเด็กนักเรียนสามารถส่งชื่อเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 59 ซึ่งชื่อที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาชื่อละ 3,000 บาท ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและส่งชื่อเข้าไปประกวดได้ที่สวนสัตว์เชียงใหม่
สำหรับลูกกระรอกดังกล่าวนั้นได้รับการช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไฟไหม้ป่าดอยสุเทพในสภาพที่เพิ่งเกิดจำนวน 3 ตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการดับและควบคุมไฟป่าได้ให้ความช่วยเหลือมอบลูกกระรอกที่อยู่ในสภาพอ่อนแออย่างมากให้ทางสวนสัตว์เชียงใหม่เพื่อให้สัตวแพทย์ดูแลและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งต่อมาได้ตายไปหนึ่งตัว และอีก 2 ตัวที่เหลือได้รับการดูแลอย่างดีจนมีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์และคุ้นเคยกับคนเป็นอย่างดี จนกระทั่งเริ่มนำออกจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 59 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ กระรอกดินข้างลาย หรือกระจ้อน หรือกระถิก จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์ฟันแทะ เป็นกระรอกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง พบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และทุกสภาพภูมิประเทศ แม้แต่ในสวนใจกลางเมือง ไม่ชอบอยู่อาศัยในป่าดิบทึบ ชอบหากินอยู่ตามพื้นดิน มีลำตัวสีน้ำตาลมีแถบสีดำสลับสีอ่อนอยู่ด้านข้างลำตัว จัดเป็นกระรอกดินชนิดพบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวเต็มที่รวมหางประมาณ 15-20 เซนติเมตร นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง