ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชเต้นเรียกถกหน่วยงานเกี่ยวข้องรับมือปีหน้า 2560 แล้งหนัก หลังปลายฝนแล้วพบ 5 เขื่อนใหญ่ของจังหวัดมีปริมาณน้ำเฉลี่ยแค่ 38% ของความจุรวม สั่งทุกอำเภอเร่งสูบน้ำหลากเข้ากักเก็บในแหล่งน้ำชุมชน ยันไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่น้ำเกษตรต้องจัดสรรให้ดี
วันนี้ (11 ต.ค.) โครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมแค่ 382.4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 38.88 ของปริมาณกักเก็บรวม 938.49 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้เฉลี่ยอยู่ที่ 328.55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุรวม
ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำหลักสำคัญหล่อเลี้ยงเมืองโคราช โดยเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเทศบาลนครนครราชสีมา และการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายอำเภอ รวมกว่า 100 แห่ง ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 90.58 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 28.80 ปริมาณน้ำใช้การได้ 60.75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20.82% ของความจุกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 55.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35.68 ปริมาณน้ำใช้การได้ 54.85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35.38 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 155 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 118.47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ปริมาณน้ำใช้การได้ 111.48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41.60 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ส่งให้เทศบาลนครนครราชสีมาผลิตประปา อีกแห่งหนึ่ง
อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 69.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.53 ปริมาณน้ำใช้การได้ 62.83 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46.89 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม.
และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 48.2 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.2 มีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 38.90 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43.86 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 98 ล้าน ลบ.ม.
โดยปริมาณน้ำรวมทั้ง 5 เขื่อนขนาดใหญ่ดังกล่าว มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีปริมาณน้ำคงเหลือ 402.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42.73 ของความจุระดับกักเก็บรวม 938.49 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.นครราชสีมา จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 159.24 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69.55 ของความจุรวม 228.96 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์การขาดแคลนน้ำในปี 2560 เนื่องจากสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดนครราชสีมา คาดการณ์ว่าปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีน้อยส่งผลให้มีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยเช่นกัน และกลางเดือน ต.ค.นี้จะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยได้สั่งการให้ทุกอำเภอเร่งสูบน้ำไหลหลากอยู่ในขณะนี้เข้ากักเก็บไว้ในแหล่งน้ำชุมชนต่างๆ เพื่อให้พอใช้ในฤดูแล้งปีหน้า เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา ทั้ง 5 แห่งมีปริมาณน้ำไม่ถึงร้อยละ 50 ของความจุรวม
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับหน่วยงานด้านน้ำไม่ว่าจะเป็นชลประทานจังหวัด ประปาเทศบาลนครนครราชสีมา และการประปาส่วนภูมิภาค ทั้ง 10 สาขา ใน จ.นครราชสีมา มั่นใจว่าในพื้นที่ จ.นครราชสีมาจะไม่มีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแน่นอน แต่น้ำที่ใช้ทำการเกษตรนั้นจะต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้มีใครต้องได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ