ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ พร้อมผู้นำศาสนาต่างๆ คณะครูอาจารย์ นักเรียน และตัวแทนชุมชนในย่านเจริญประเทศ และใกล้เคียง ในนาม “สภาเมืองสีเขียว” ร่วมกันทำพิธีเปิดประตู “สวนสาธารณะปลอดสารพิษกลางเมือง” ก่อนเดินเครื่องพัฒนาที่ดินราชพัสดุเฉียด 10 ไร่ติดกับโรงเรียนโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่สีเขียว และปอดของเมืองตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน หลังล้มโครงการผุดคอนโดฯ หลายร้อยยูนิตสำเร็จ
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่บริเวณบนที่ดินราชพัสดุประมาณ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา ที่อยู่ติดกับโรงเรียนโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ย่านถนนเจริญประเทศ ในตัวเมืองเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้นำศาสนาต่างๆ คณะครูอาจารย์ นักเรียน และตัวแทนชุมชนในย่านเจริญประเทศ และใกล้เคียงดังกล่าว ร่วมกันทำพิธีเปิดประตูสวนสาธารณะปลอดสารพิษกลางเมือง ซึ่งจะใช้ที่ดินดังกล่าวดำเนินการ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางกรมธนารักษ์ มีโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ที่จะก่อสร้างเป็นอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียมหลายร้อยหน่วยบนที่ดินดังกล่าว แต่ถูกคัดค้านจนกระทั่งมีการล้มเลิกโครงการ และทางกรมธนารักษ์ ยินยอมที่จะให้มีการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียวกลางเมือง ตามที่มีภาคประชาชนเรียกร้อง
โดยก่อนการทำพีเปิดประตูดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นประธานประชุมสภาเมืองสีเขียว ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำศาสนาต่างๆ คณะครูอาจารย์ นักเรียน และตัวแทนชุมชนในย่านเจริญประเทศ และใกล้เคียง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมในการนำเสนอแนวทางในการพัฒนา และสรุปลงมติในการจัดการพื้นที่ป่ากว่า 9 ไร่ บนถนนเจริญประเทศ ที่ทางด้านกรมธนารักษ์ ได้มีการประกาศมอบพื้นที่ดังกล่าวให้ทางจังหวัดเพื่อนำไปพัฒนาเป็นสวนสาธารณะปลอดสารพิษ ของเมืองเชียงใหม่
ขณะที่หลังจากทำพิธีเปิดประตูแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าชมสวนกลางเมืองเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมสำรวจพรรณไม้ และสัมผัสความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ โดยมี อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย หัวหน้าทีมหมอต้นไม้อาสา และอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำคณะทำการร่วมสำรวจ และตรวจต้นไม้ร่วมกัน พร้อมผู้แทนจากเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้แทนประชาชนผู้อยู่อาศัย และสถาบันการศึกษาในชุมชนเจริญประเทศ และใกล้เคียง
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับสถานที่แห่งนี้ภายหลังจากที่ทางกรมธนารักษ์ได้มอบพื้นที่ให้แล้ว ทางชุมชนต้องพิจารณาร่วมกันว่าต้องการดำเนินการให้ออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้ออกมาในรูปแบบประชารัฐที่แท้จริง โดยมีประชาชนในชุมชนร่วมคิดร่วมทำ เพื่อใช้สถานที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน
ส่วนทางจังหวัดก็จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานเพื่อที่จะมาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม และทำให้ทางชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากการลงสำรวจพื้นที่แล้วพบว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งต้นไม้ใหญ่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ และมีพื้นที่เป็นต้นไม้ที่สมควรจะต้องเอาออกไป เนื่องจากเป็นไม้พลัดถิ่น และลุกลาม รวมถึงวัชพืชต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะได้ข้อยุติกันในเร็วๆ นี้ว่าจะมีการดำเนินการ และช่วงเวลาอย่างไร รวมถึงใครจะเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีน้ำเงินที่ทางราชการ หรือผู้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ และทำให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด
ด้าน นางอัมภาพร จันทร์กระจ่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย กล่าวว่า จุดยืนร่วมกันของทุกฝ่ายต้องการให้มีการพัฒนาที่ดินตรงนี้เป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิต โดยบริเวณที่เป็นพื้นที่ซีเมนต์ก็อยากให้ทำเป็นพื้นที่ออกกำลังกายเป็นหลัก และพยายามที่จะคงสภาพเดิมให้มากที่สุดและการก่อสร้างมีน้อยที่สุดโดยคงสภาพต้นไม้ หรือเพิ่มต้นไม้เข้าไป อีกอย่างคือ อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ของเยาวชนในชุมชน และเยาวชนในเชียงใหม่
อีกประเด็นคือ พื้นที่แห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสมุนไพรเพื่อที่ให้เด็กได้เรียนรู้ ขณะเดียวกัน เป็นความร่วมมือของทางป่าไม้ที่มีพื้นที่ติดกัน ซึ่งตรงจุดนี้ทางกรมป่าไม้มีโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วคือ โครงการตามแนวพระราชดำริ ดังนั้น จึงเป็นการร่วมกันในการทำพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในเชียงใหม่
ในส่วนของภาครัฐที่เข้ามามีส่วนร่วมก็มองว่า ตรงนี้หากทำเป็นพื้นที่สีเขียวก็จะเป็นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวด้วย และถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใช้ต้อนรับผู้มาเยือนได้ด้วยเช่นกัน และสำหรับงบประมาณในการลงทุนตรงจุดนี้ตอนนี้มีองค์กรที่มีประธานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีองค์กรภาครัฐ และเอกชน และนักธุรกิจยื่นมือเข้ามาช่วย และจากการที่ได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น มีความเห็นว่าจะออกมาในรูปแบบของมูลนิธิที่ทางรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่เบื้องต้น ยังไม่ชัดเจน และเท่าที่มีการพุดคุยกันก็จะมอบหมายให้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่จะเป็นเจ้าภาพหลัก
ส่วน อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย หัวหน้าทีมหมอต้นไม้อาสา และอดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ในส่วนของรูปแบบการดำเนินงานในตอนนี้นั้นได้โจทย์จากชุมชนมา คือ ให้มีการใช้พื้นที่แบบมีความสะดวก ปลอดภัย และให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยที่ยังไม่ต้องไปคำนึงถึงการลงมือก่อสร้างใหญ่โต และเอาแค่ว่าคนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้
ในส่วนของต้นไม้นั้นมีพื้นที่แล้ว แต่ยังเหลือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตรงจุดนี้จะต้องมีส่วนร่วม จึงได้ใช้วิธีการระดมความเห็นจากส่วนรวมคือ การประกวดแบบภายใน 60 วันนับจากนี้
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพื้นที่จะเห็นได้ว่า การเข้าไปในพื้นที่ข้างในไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากมีถนนคอนกรีต และมีรั้วรอบขอบชิดดีพอสมควร รวมถึงมีเส้นทางที่จะเปิดทะลุไปยังถนนด้านหลังด้วย และด้านหน้าก็มีการเคลียร์พื้นที่แล้ว ซึ่งสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้
แต่เรื่องเร่งด่วนที่ได้มีการคุยกัน คือ อาจจะต้องเข้ามาเคลียร์พื้นที่ให้มีความสะอาดขึ้น สามารถมองเห็นพื้นที่รอบข้างได้หมด
นอกจากนี้ กำลังจะดำเนินการพูดคุยกับทางป่าไม้ที่อยู่ด้านข้าง เนื่องจากว่าบริเวณดังกล่าวมีศูนย์เรียนรู้ หากสามารถเชื่อมพื้นที่ต่อกันได้นั้น จากพื้นที่ 9 ไร่ ก็จะกลายเป็นพื้นที่ประมาณ 19-20 ไร่ ซึ่งสามารถทำได้ในการออกแบบ และถือเป็นความร่วมมือของทางธนารักษ์ กับกรมป่าไม้ไปด้วย และป่าไม้ก็มีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ แต่การดำเนินการในขณะนี้สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ทัน คือ ภายใน 1 ปีนี้จะต้องมีการลงนามในการเป็นเจ้าของขอใช้พื้นที่ก่อน