xs
xsm
sm
md
lg

“เขื่อนปราณบุรี” ยังวิกฤตแล้งแม้เข้าหน้าฝน หวั่นกระทบถึงการบริหารจัดการน้ำในแล้งปี 60

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - เขื่อนปราณบุรีประสบวิกฤตภัยแล้งหนักในรอบ 30 ปี น้ำในเขื่อนเหลือเพียง 9.7 เปอร์เซ็นต์ แม้ขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี หวั่นกระทบถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งปีหน้า

วันนี้ (21 ก.ย.) นายจรูญ เอื้ออารีย์วงศ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี เปิดเผยว่า จากการสำรวจระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ขณะนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่พบว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างกลับอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในภาพรวมยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากน้ำในเขื่อนเหลือเพียง 9.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถือว่าเขื่อนปราณบุรีมีปริมาณในอ่างต่ำสุดในรอบ 30 ปี หวั่นกระทบถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งปีหน้า

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนปราณบุรีในปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่าง 0.470 ล้านลูกบาศก์เมตร (สี่แสนเจ็ดหมื่นลูกบาศก์เมตร) สำหรับน้ำที่สามารถใช้การได้ในขณะนี้ในอ่างมี 9.79 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ คิดเป็นปริมาณ 38.29 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่จัดสรรในแต่ละวันเป็นการรักษาช่วยระบบนิเวศ 0.040 ล้านลูกบาศก์เมตร (สี่หมื่นลูกบาศก์เมตร) ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยส่งทางท่อน้ำดิบ 0.137 ล้านลูกบาศก์เมตร

“การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปราณบุรีได้มีการจัดการวางแผนในส่วนที่จะช่วยประชาชนใน 3 อำเภอ คือ อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี โดยการส่งน้ำนอนคลองในระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ให้ประชาชนมาสูบเข้าระบบประปาหมู่บ้านโดยให้ออกค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำเอง” นายจรูญ กล่าว

นายจรูญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนในกรณีที่มีน้ำเข้าเขื่อนไม่ดีในเดือนต่อๆ ไปอาจจะต้องใช้วิธีนี้จนกว่าอ่างเก็บน้ำจะสามารถเก็บน้ำได้มากพอสมควรจึงจะปรับแผนโดยระบบอื่น ทำให้ยังไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้ โดยปัจจุบันมีเพียงการจัดสรรน้ำเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปาของเทศบาลเมืองหัวหิน และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาปราณบุรี และรักษาระบบนิเวศแม่น้ำปราณบุรี รวมวันละประมาณ 260,000 ลูกบาศก์เมตร

“เราคาดหวังให้ในเดือนตุลาคมนี้ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมของพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุกมากขึ้นเพื่อให้มีปริมาณน้ำถึงระดับ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรจึงจะบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติ แต่หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำมากขึ้นไปอีกจนถึงช่วงหน้าแล้งปีหน้า โดยทางโครงการฯ อาจจำเป็นต้องวางมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น ลดการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคลงเหลือร้อยละ 50 ของปัจจุบัน” นายจรูญ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น