ประจวบคีรีขันธ์ - นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ยันทำตามขั้นตอน กม.ไม่ได้เพิกเฉยกรณีรื้ออาคารร้านค้าริมหาดหัวหิน ตั้งแต่สะพานปลา ถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม หลังสำรวจพบมี 40 อาคาร เผยศาลพิพากษาให้จำเลยเสียค่าปรับจนกว่าจะรื้อถอนอาคารเสร้จ ด้าน ตร.หัวหิน ตามจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดีบุกรุกชายหาดแล้ว 1 ราย นำส่งศาล ส่วนที่เหลือเสียชีวิต 2 ราย และอีก 5 ราย อยู่ระหว่างตามตัว ขณะที่เทศบาลเมืองหัวหินทำหนังสือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าฯ ประจวบฯ อำเภอหัวหิน สำนักงานเจ้าภูมิภาคฯ อัยการ และตำรวจนัดหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น 19 ก.ย.นี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ไม่ใช่เทศบาลเมืองหัวหินเพียงหน่วยงานเดียว
วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีผู้บุกรุกบริเวณชายหาดหัวหิน ทั้งร้านอาหาร บ้านพัก เกสต์เฮาส์ ร้านตัดเสื้อผ้า ซึ่งทางเทศบาลหัวหินได้แจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมา รวม 26 ราย จำนวน 40 อาคาร จนภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารร้านค้าริมชายหาดหัวหินตั้งแต่บริเวณสะพานปลา-ศาลเจ้าแม่ทับทิม ตั้งแต่ปี 2557 และพบว่า มีจำเลย 8 รายที่ศาลสั่งให้เสียค่าปรับจนกว่าจะทำการรื้อถอนอาคารออกไป แต่จำเลย 8 รายไม่ได้มาฟังคำพิพากษาจนศาลออกหมายจับ ซึ่ง พ.ต.อ.สิทธิชัย ศรีโสภาเจริญรัตน์ ผกก.สภ.หัวหิน หลังได้หมายจับจึงเข้าจับกุบผู้ต้องหาตามหมายได้แล้ว 1 รายในวันนี้ และนำส่งศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 ราย พบว่า เสียชีวิตแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5 ราย ได้ให้ตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนติดตามดำเนินการจับกุมต่อไป
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน และพันจ่าเอกเรืองเดช สิทธิชัย หัวหน้าฝ่ายนิติการเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน ว่า พื้นที่ชายหาดในความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองหัวหิน ตั้งแต่บริเวณสะพานปลา จนถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม ได้รับการยกให้เป็นพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2534 เทศบาลเมืองหัวหิน จึงให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งหมดมาทำสัญญาเช่าไว้กับเทศบาลเมืองหัวหิน เป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 28 ราย เมื่อครบกำหนดจะต้องรื้อถอนออกไป
แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาพบว่า มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ยอมรื้อถอนตามสัญญาเช่า ส่วนที่เหลือกลับไม่มีใครยอมรื้อ ทำให้เทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ยื่นเรื่องต่ออัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2546 เพื่อฟ้องร้องผู้ประกอบการทั้งสิ้น 26 ราย ดำเนินคดีในชั้นศาลมาอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายศาลฎีกาได้มีคำสั่งเมื่อปี 2557 ให้ผู้ประกอบการทั้ง 26 ราย เสียค่าปรับต่อศาลจนกว่าจะมีการรื้อถอนออกไป โดยคดีนี้เป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีแพ่ง จึงไม่มีการบังคับคดี
ที่ผ่านมา ทางเทศบาลเมืองหัวหิน ไม่ทราบว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีการไปเสียค่าปรับต่อศาลตามคำสั่ง และเมื่อได้มีการตรวจสอบแล้วพบการละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทางเทศบาลเมืองหัวหิน จึงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการเพื่อแจ้งว่าผู้ประกอบการยังไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้ทางอัยการดำเนินการตามขั้นตอน ขณะเดียวกัน ในส่วนเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งต่อผู้ประกอบการ ทั้ง 26 ราย ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 30 วัน
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ยืนยันว่า ไม่ได้เพิกเฉยหลังศาลฎีกามีคำสั่งให้รื้อถอนมากว่า 2 ปี ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ เนื่องจากศาลไม่เคยมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 26 ราย ต้องรื้อถอนภายในกำหนดระยะเวลาใด แต่เป็นคำสั่งให้ผู้ประกอบการเสียค่าปรับจนกว่าจะรื้อถอน
นอกจากนี้ พื้นที่ชายหาดหัวหิน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักในการดูแลรวม 3 หน่วยงาน คือ ฝ่ายปกครองโดยอำเภอหัวหิน ที่ต้องดูเรื่อง พ.ร.บ.ที่ดิน กรมเจ้าท่า ที่ต้องดูแลเรื่อง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านนํ้าไทย และเทศบาลเมืองหัวหิน ที่จะต้องดูแลเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมทำหนังสือประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอหัวหิน สำนักงานเจ้าภูมิภาคประจวบคีรีขันธ์ อัยการ และตำรวจ เพื่อนัดประชุมหารือในประเด็นที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ โดยจะมี นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน ไม่ใช่เทศบาลเมืองหัวหินเพียงหน่วยงานเดียว และล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เดินทางมาตรวจสอบซึ่งเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ดำเนินการชี้แจงให้รับทราบว่าเป็นคดีอาญา โดยทาง ป.ป.ท.ก็รับทราบแล้ว
ด้าน นายนันทพล จิรลภัสปรีดา เจ้าของร้านอาหารชาวเล ตั้งอยู่ริมทะเลหัวหิน และเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ถูกอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฟ้องร้องในคดี พ.ร.บ.ควบคุมอาคารของเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวถึงข่าวที่ลงไปในหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้นราวกับผู้ประกอบการร้านอาหารชายหาดหัวหินเป็นผู้ร้าย หรือเป็นผู้มีอิทธิพล ซึ่งข้อมูลที่นำไปลงข่าวไปนั้นไม่ครบถ้วน และไม่เคยมาสอบถามพวกตน พวกตนอยู่กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย อยู่กันมาตั้งแต่เป็นสภาปกครองชายหาดสมอเรียง
โดยในขณะนั้นยังไม่มีเทศบาลเกิดขึ้น ทุกบ้านมีบ้านเลขที่ ติดตั้งมิเตอร์น้ำไฟฟ้าถูกต้อง ซึ่งบ้านเรือน และร้านค้าริมทะเลหัวหินเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากมรดกของพ่อแม่ที่ยกให้ถูกต้องเพื่อให้ลูกหลานได้ทำมาหากิน แต่พออยู่ต่อมาทางราชการแจ้งว่าเราทำผิดกฎหมาย ทำต่อไม่ได้ ชาวบ้านก็ยินยอม ซึ่งนายอำเภอหัวหินในสมัยนั้นได้หาทางออกให้ด้วยการทำสัญญาเช่ากับเทศบาลเมืองหัวหิน เป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เมื่อครบสัญญาให้รื้อถอนออกไป
เมื่อมีการขึ้นศาลมาครบ 3 ศาล หลายบ้านได้รับการยกฟ้อง เพราะจำเลยเสียชีวิตก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องทายาทแต่อย่างใด พวกเขาก็อยู่กันมาต่อเนื่อง จน 2 ปีที่แล้ว ศาลฎีกาตัดสิน พวกตนก็น้อมรับคำสั่งศาลกันทุกคน แต่ตามขั้นตอนการรื้อถอนยังต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งพวกตนไม่ได้ดื้อแพ่งแต่อย่างใด เมื่อถึงเวลาก็จะรื้อถอนออกไปแน่นอน แต่ขณะนี้พบปัญหา และมีการสอบถามกันมาตลอดว่า บางบ้านยกฟ้อง บางหลังต้องรื้อถอน แล้วจะรื้อกันอย่างไร
ด้าน นายเรวัตร มีกรุณา เจ้าของร้าอาหารมีกรุณา กล่าวว่า เมื่อผู้ประกอบการต้องรื้อถอนอาคารออกไป เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงต้องยอม แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมานอกจากเจ้าของกิจการแล้ว ก็ยังมีลูกจ้างของแต่ละสถานประกอบการที่จะต้องลำบาก ตรงนี้เองก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ด้วย และสิ่งสำคัญเมื่อบริเวณดังกล่าวมีการรื้อถอนออกไปแล้วจะปรับปรุงพื้นที่อย่างไรต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็คงต้องมีแผน และชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบด้วย