ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน วางกรอบลดความเหลื่อมล้ำจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มอบนโยบายบุคลากร มุ่งจัดการศึกษาให้คนพิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค
วันนี้ (9 ก.ย. 59) ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดสัมมนา “การจัดการเรียนรวมในศตวรรษที่ 21 และนำเสนอผลงานทางวิชาการระดับประเทศ” โดยมีนายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางญาณกร จันทหาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เป็นประธานร่วมเปิดงาน โดยมีผู้บริหารศูนย์การศึกษาพิเศษ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในสถานศึกษาที่จัดการเรียนรวม จากทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน เข้าร่วมสัมมนา
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการและผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศระดับประเทศ และมีนิทรรศการและผลงานทางวิชาการ นำเสนอวัตกรรมทางการศึกษาของภาครัฐและเอกชน มาร่วมแสดงในงานนี้ด้วย จำนวน 36 ผลงาน
นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษตั้งแต่แรกเกิด หรือพบความพิการตลอดชีพ ให้เข้าถึงโอกาสการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและเสมอภาค โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในทุกระดับและทุกระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการคัดกรอง การประเมินความสามารถพื้นฐาน และส่งเสริมพัฒนาการบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคนให้มีความพร้อมเข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม และเพื่อให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ มีความพร้อมในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และประกอบอาชีพหลังจบการศึกษา โดยจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศนโยบาย “ปี 2559 ปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ” โดยมีแนวทางจัดบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม จัดการศึกษาแบบเรียนรวม และจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ หากได้รับความร่วมมือการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในทุกระดับและทุกระบบแล้วจะทำให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในการได้รับโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เสมอภาค และยุติธรรม