xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์ระดมกำลังโค่นต้นยางกว่า 2,400 ไร่ บุกรุก “ป่าดงใหญ่” ผืนป่ามรดกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์  สนธิกำลังหลายฝ่ายกว่า 200 นาย เดินหน้าเข้าตัดโค่นต้นยางพารา 9 แปลงกว่า 2,400 ไร่ ที่บุกรุกปลูกในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ผืนป่ามรดกโลก วันนี้ ( 8 ก.ย.)
บุรีรัมย์ - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ผสานกำลังหลายฝ่ายกว่า 200 นาย เดินหน้าเข้าตัดโค่นต้นยางพารา 9 แปลงกว่า 2,400 ไร่ ที่ชาวบ้านบุกรุกปลูกในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ผืนป่ามรดกโลกโดยผิดกฎหมาย ก่อนฟื้นฟูให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ

วันนี้ (8 ก.ย.) นายฐากร ล้อมศตพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) พร้อมด้วยนายสมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงฯ ในเขตพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกำลังทหารกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนดินแดง ตชด.215 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอ และอาสาสมัครรักษาดินแดนกว่า 200 นาย เข้าตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกถือครองและลักลอบปลูกยางพาราโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ตามแผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายต่อการบุกรุกปลูกยางพารา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่และป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ เตรียมผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ โดยการตัดโค่นต้นยางพาราในครั้งนี้จะดำเนินการจำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 2,406 ไร่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

สำหรับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ เตรียมผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการ จำนวน 51 แปลง เนื้อที่ 3,963.23 ไร่ ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จำนวน 22 แปลง เนื้อที่ 508.55 ไร่ ดำเนินการรื้อถอนแล้วจำนวน 18 แปลง เนื้อที่ 454.16 ไร่ พื้นที่ยังไม่ดำเนินการรื้อถอน จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 54.39 ไร่

และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่เตรียมผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จำนวน 29 แปลง เนื้อที่ 3,407.20 ไร่ โดยหลังจากรื้อถอนพืชผลอาสินเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการปลูกต้นไม่ฟื้นฟูสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญอีกด้วย เนื่องจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดงใหญ่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการประกาศเป็นผืนป่ามรดกโลกทางธรรมชาติจากองค์การยูเนสโก







กำลังโหลดความคิดเห็น