กาญจนบุรี - เผยวัว ควาย รวมทั้งสัตว์หลายชนิดในวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี ขาดอาหารหนัก อาสาสมัครชาวต่างชาติที่เคยเลี้ยงเสือต้องตระเวนตัดกิ่งไม้หาใบอ่อนให้กินแทน ด้าน “ไวยาวัจกร” เผย “หลวงตาจันทร์” ห่วงเสือพิการ 4 ตัว ที่กรมอุทยานแห่งชาติ ขนย้ายไปที่ราชบุรี หวั่นเสียชีวิต วอนทางกรมอุทยานฯ ส่งกลับให้วัดดูแล
จากกรณี นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าขนย้ายเสือโคร่งของกลาง จำนวน 147 ตัว ออกไปจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.ถึงวันที่ 4 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา ทำให้วัดป่าหลวงตาบัวฯ หรือวัดเสือ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดกาญจนบุรี ต้องปิดตัวลง บรรยากาศที่เคยคึกคักเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกลับเข้าสู่สภาวะอันเงียบเหงาไปโดยปริยาย แต่กระนั้นก็ตาม ภายในวัดยังคงมีวัว ควาย หมู่ป่า เก้ง กวาง ละมั่ง ละอง มากกว่า 2,000 ตัว ที่ทางวัดจะต้องคอยหาอาหารมาเลี้ยงดูต่อไป
ล่าสุด วันนี้ (2 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจในพื้นที่อีกครั้งหนึ่งในรอบหลายเดือน พบนายศิริ หวังบุญเกิด ไวยาวัจกรวัดป่าหลวงตาบัวฯ กำลังให้อาหารฝูงวัว ควายที่มีมากว่า 200 ตัว อยู่ที่ประตูหน้าวัด โดยมีอาสาสมัครชาวต่างชาติทั้งชาย และหญิง และคนไทยประมาณ 5 คน ช่วยกันโยนกิ่งไม้ที่มีใบอ่อน รวมทั้งยอดกระถินลงมาจากรถบรรทุกเพื่อให้วัว และควายได้กินใบไม้เหล่านั้นเป็นอาหาร และยังมีหมูป่าจำนวนหนึ่งมาแย่งกินกันอีกด้วย ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่โดยรอบ ไม่พบว่ามีอาหารประเภทหญ้า หรือฟาง หรือผลไม้ที่เคยมีประชาชนนำมาบริจาคให้แก่สัตว์เหล่านี้อยู่เลยแม้แต่น้อย
นายศิริ หวังบุญเกิด ไวยาวัจกร วัดป่าหลวงตาบัวฯ เปิดเผยว่า ตนเพิ่งได้รับหนังสือจากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) แจ้งว่า จะเข้ามาขนย้ายสัตว์ป่าของกลางที่ยังคงตกค้างอยู่ ซึ่งตนในฐานะไวยาวัจกรที่ได้รับมอบหมายจากพระวิสุทธิสารเถร หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดฯ ก็ได้ทำหนังสือแจ้งกลับไปว่า หากจะมีการขนย้ายสัตว์ป่าของกลางออกไปก็ขอให้ทางกรมอุทยานฯ นำเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพิสูจน์อัตลักษณ์ของสัตว์ป่าที่จะทำการขนย้ายร่วมกับทางวัดเสียก่อน
ทั้งนี้ เพราะสัตว์บางชนิดเป็นสัตว์ที่มีอัตลักษณ์ที่ดูคล้ายกันมาก โดยเฉพาะกวางม้อ และกวางลูซ่า ซึ่งกวางลูซ่า ที่มีอยู่นั้น หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือหลวงตาบัว เป็นผู้นำมามอบให้หลวงตาจันทร์ เลี้ยงดูมาหลายปีแล้ว ซึ่งปัจจุบัน ได้แพร่พันธุ์ออกมาเป็นจำนวนมาก ทางวัดจึงเกรงว่าหากไม่มีการพิสูจน์อัตลักษณ์ให้ชัดเจนทางกรมอุทยานฯ อาจจะขนย้ายกวางที่หลวงตาบัว นำมามอบให้ไปด้วยก็เป็นได้
“เจตนารมณ์ที่หลวงตาบัว นำกวางชนิดนี้มาให้แก่หลวงตาจันทร์เลี้ยง ก็เพื่อให้ทางวัดดูแลไปจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง รวมทั้งวัว และควายที่มีอยู่ก็เช่นกัน สัตว์เหล่านี้ล้วนได้มาจากการที่ประชาชนไถ่ออกมาจากโรงฆ่าสัตว์แล้วนำมามอบให้แก่ทางวัดเลี้ยงดู จึงจำเป็นต้องเลี้ยงดูกันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ด้วยเช่นกัน” นายศิริ หวังบุญเกิด ไวยาวัจกร วัดป่าหลวงตาบัวฯ กล่าว
พร้อมกล่าวต่อว่า แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันอาหารที่นำมาเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ไม่มีแล้ว แต่ยังโชคดีที่อาสาสมัครชาวต่างชาติที่เคยเลี้ยงดูเสือโคร่งของกลางมาก่อน ยังคงอยู่ที่วัดเพื่อคอยออกไปหาอาหารมาให้สัตว์ได้กินเพื่อความอยู่รอด แต่อาหารที่ได้มาก็คงไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ที่มีอยู่
“ดังนั้น หากเป็นไปได้ผมอยากร้องขอให้ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่เคยมาที่วัดช่วยกันซื้อพืชผัก หรือผลไม้ที่เป็นอาหารสัตว์นำมาบริจาคให้แก่ทางวัดด้วย เชื่อว่าการทำบุญแก่สัตว์ที่ได้รับการไถ่ชีวิตออกมาจากโรงฆ่าสัตว์นั้นทุกคนคงจะได้บุญ”
นายศิริ หวังบุญเกิด ไวยาวัจกร วัดป่าหลวงตาบัวฯ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีเสือโคร่งของกลางที่ทางกรมอุทยานฯ ขนย้ายไปนั้น หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาส มีความเป็นห่วงเสือโคร่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเสือโคร่งที่ตาบอด 1 ตัว เป็นโรคลมชัก 1 ตัว เป็นโรคภูมิแพ้ 1 ตัว และสะโพกหักอีก 1 ตัว รวม 4 ตัว
“หากเป็นไปได้ก็อยากจะวิงวอนขอให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ผู้มีอำนาจโดยตรง มอบหมายให้นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทานฯ ที่นำกำลังเข้ามาขนย้ายเสือโคร่งออกไป นำเสือทั้ง 4 ตัว กลับมาให้แก่ทางวัดเป็นผู้ดูแลเอง และขอให้กรมอุทยานฯ อนุญาตให้อาสาสมัครชาวต่างชาติ หรืออาสาสมัครที่เป็นคนไทยที่เคยเลี้ยงดูเสือโคร่งเหล่านั้นได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเสือที่เขาเคยเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวยังเล็กก็จะเป็นการดี เชื่อว่าเสือโคร่งยังคงคิดถึงอาสาสมัครที่เขาเคยเลี้ยงดูมาอย่างแน่นอน”