xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “รีสอร์ตม้งภูชี้ฟ้า” ก่อนซ้ำรอย “ภูทับเบิก” พบผุดแล้วร่วม 150 แห่ง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร พร้อมฝ่ายปกครอง ตั้งโต๊ะจัดเวิร์กชอปสางปัญหา “รีสอร์ตม้งภูชี้ฟ้า” ก่อนซ้ำรอย “ภูทับเบิก” ล่าสุดพบรีสอร์ตผุดในเขตป่า-ส.ป.ก. เกือบ 150 แห่ง แถมมีแนวโน้มสร้างเพิ่มอีก ขณะที่ป่าไม้ ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน ยึดแนวเขตตามแผนที่คนละฉบับ



วันนี้ (24 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะปัญหารีสอร์ตชาวม้งภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กำลังลุกลามจนกลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ “รีสอร์ตม้งภูชี้ฟ้า อ.เทิง จ.เชียงราย” ซึ่งมีห้องพักรีสอร์ตต่างๆ ที่อยู่ในเขตป่าไม้และพื้นที่ปฏิรูปการเกษตร (ส.ป.ก.) รวมจำนวนทั้งสิ้นถึง 145 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในเขต ต.ปอ จำนวน 24 แห่ง ต.ตับเต่า จำนวน 41 แห่ง และมีแนวโน้มว่าจะมีการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นอีก ก็กำลังถูกจับตาเช่นกัน

ล่าสุดนายสมศักดิ์ เจียมสงวนวงศ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย), พ.อ.จรัส ปัญญาดี รองผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 37, นายทวีศักดิ์ ยอดมณีบรรพต กำนัน ต.ปอ อ.เวียงแก่น และเป็นประธานชมรมม้งในประเทศไทย รวมทั้งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายชาวบ้านดอยยาว-ผาหม่น ขึ้นที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า ต.ตับเต่า อ.เทิง

ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หลังผู้ประกอบธุรกิจห้องพักรีสอร์ตต่างๆ สร้างสิ่งปลูกสร้างให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่ทั่วไปบนเทือกเขา โดยเฉพาะใกล้ภูชี้ฟ้า ผาตั้ง ฯลฯ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ในเขต อ.เทิง และ อ.เวียงแก่น ชายแดนไทย-สปป.ลาว

ที่ประชุมได้แจ้งผู้ประกอบการให้ช่วยตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นผู้มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายอย่างถูกต้อง กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่สร้างบนที่ดินก่อนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าคุณสมบัติทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าว จากนั้นจึงค่อยมาหารือกันต่อไป

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การตรวจสอบแนวเขตที่ชัดเจนเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการประชุมหารือกันในครั้งนี้คืบหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง เป็นการเริ่มต้น และจากนี้ไปก็จะมีการนัดพบปะพูดคุยกับประชาชนตามหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมกันตรวจสอบแนวเขตอย่างละเอียด หลังจากนั้นจึงค่อยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันหรือเอ็มโอยูต่อไป

“แต่ยืนยันว่าปัญหาการสร้างรีสอร์ตในพื้นที่ จ.เชียงรายไม่เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ภูทับเบิก เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบก่อน”

ด้านนายทวีศักดิ์กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเจ้าหน้าที่ใช้แผนที่ปี 2551 อ้างอิง ส่วนชาวบ้านถือแผนที่ของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เคยเข้าไปรังวัดมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีผู้สร้างรีสอร์ตห้องพักตามจุดต่างๆ ที่ตัวเองครอบครองอยู่ไปแล้ว

“หลายหน่วยงานก็แจ้งว่าชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินได้ เพราะการพัฒนาพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ที่อาจจะอยู่ในกลุ่มที่ 3 นั้น ก็ได้เสนอให้เจ้าหน้าที่อนุโลมเรื่องการดำเนินคดีเอาไว้ก่อนเพราะต้องรอให้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปจึงค่อยดำเนินการ และมีการลงนามเอ็มโอยูเพื่อจะได้ร่วมกันอนุรักษป่าและไม่มีการบุกรุกต่อไป

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านได้นำเสนอการแก้ไขปัญหาในหลากหลายรูปแบบ เช่น ชาวบ้านร่มฟ้าไทย ต.ตับเต่า เสนอให้ภาครัฐร่วมกับชุมชนกันเขตหมู่บ้านชุมชนและที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ทำกินทางการเกษตรให้มีความชัดเจน และอยากให้อนุโลมสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในพื้นที่เครือข่ายการเกษตรดอยยาว-ดอยผาหม่น เป็นต้น







กำลังโหลดความคิดเห็น