มหาสารคาม - มมส.จัดโครงการประเพณีลงแขกปักดำนา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 “ปลูกวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ”
วันนี้ (9 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ บริเวณแปลงนา ข้างคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) จัดโครงการลงแขกปักดำนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 “ปลูกวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานถวายพานพุ่ม เปิดกรวยถวายพระพร กล่าวสดุดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรยุทธ ชาติชนะยืนยง รองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ นำผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิตนักเรียนร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน ร่วมกันลงแขกปักดำนา บนเนื้อที่ 5 ไร่ เป็นข้าวจ้าวพันธุ์มะลิ 105 ภายใต้แนวคิด “ปลูกวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ”
โดยมีนิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์แต่งกายชุดแฟนซีแปลกตา จัดการแสดงออกลีลาประกอบเสียงเพลง เสียงดนตรีเพื่อสร้างสีสัน เรียกรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ เพิ่มบรรยากาศให้การลงแขกดำนาเต็มไปด้วยความสนุกสนาน คลายความเหนื่อยล้าจากการปักดำนาไปได้มาก
กิจกรรมครั้งนี้จัดเพื่อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ถวายเป็นราชสักการะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รักษา และอนุรักษ์ประเพณีการลงแขกปักดำนา ซึ่งเป็นรากฐานของคนไทย ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร โดยมีอาจารย์ บุคลากร นิสิต และนักเรียน มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้สืบสานประเพณีลงแขกดำนาร่วมกัน โดยได้กำหนด “ปลูกวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้ดำเนินการในพื้นที่แปลงนามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) ซึ่งการดำนา นับเป็นภูมิปัญญาวิถีชีวิตชาวนาอีสานในอดีตเมื่อถึงฤดูการทำนา โดยชาวนาจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนช่วยเหลือจุนเจือกัน ช่วยกันทำนาโดยไม่มีค่าจ้างแรงงาน แต่ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ทำให้แรงงานในนาขาดแคลนอย่างหนัก หลายครอบครัวจึงมีการจ้างแรงงานจากที่อื่นมาช่วย
ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งทำให้ปัจจุบันประเพณีลงแขกปักดำนา อันเป็นประเพณีที่ดีงามที่ใกล้จะสูญหายไปจากสังคมในชนบท และกำลังจะกลายเป็นตำนาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อสืบสานอนุรักษ์ประเพณีการลงแขกปักดำนาให้คงอยู่สืบไป