เชียงราย - “อาจารย์เฉลิมชัย” ศิลปินชื่อดังผู้รังสรรค์ผลงานวัดร่องขุ่น จนดังก้องโลก เอ่ยปากชม “น้องไอซ์” ไม่ขาดปาก บอกฝีมือดี ยังพัฒนาได้อีกมาก บอก “ถ้าอยากเจอลุง จะส่งเงินไปให้เป็นค่าเดินทาง ไม่ต้องเรี่ยไร” เผยยังมี “น้องอาร์มานี่” อีกคน ส่งภาพมาให้ดูแล้ว ฝีมือจัดจ้านน่าทึ่งเหมือนกัน
วันนี้ (4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการเผยแพร่เรื่องราวของ ด.ช.นัทธกรณ์ ศรีพะลาน หรือน้องไอซ์ อายุ 6 ขวบ นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนบ้านโนนเดื่อ ต.บานตาด อ.เมืองอุดรธานี มีความสามารถวาดภาพพุทธประวัติได้อย่างงดงาม โดยได้จดจำมาจากภาพวาดตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ทำให้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชื่อดังชาวเชียงรายผู้รังสรรค์ผลงานวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ออกมาแสดงความชื่นชมยินดีในฝีมือของเด็กชาย ป.1 คนนี้เป็นอย่างมาก
ล่าสุดขณะที่อาจารย์เฉลิมชัยออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทย-จีน-ฝรั่งตะวันตก จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าเยี่ยมชมวัดร่องขุ่น ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต่างชื่นชมในผลงานทางศิลปะภายในวัดร่องขุ่น ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถขาวและสถานที่ข้างเคียง ที่ต่างมีการก่อสร้างและประดับตกแต่ง รวมทั้งมีภาพวาดฝีมือของอาจารย์เฉลิมชัยที่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่งนั้น
อาจารย์เฉลิมชัยก็ยังคงออกปากชื่นชมฝีมือของ ด.ช.นันธกรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าตนขอชื่นชมยินดีในฝีมือของ ด.ช.นันธกรณ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการวาดภาพที่เป็นอัจฉริยะ ทั้งๆ ที่เป็นวัยเด็กที่อายุยังน้อย แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยเรามีผู้ที่ฝีมือดีหลายคน และซ่อนอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ
กรณีของ ด.ช.นันธกรณ์ หรือน้องไอซ์ ถือเป็นผู้ที่นอกจากจะมีฝีมือดีแล้ว ยังมีการวางตัวที่ดี ไม่ดื้อเหมือนตน เขาจึงมีโอกาสอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมี “น้องอาร์มานี่” อีกคนที่เห็นข่าวแล้วส่งภาพมาให้ตนดูบ้าง ซึ่งตนก็ทึ่งในฝีมืออย่างมากอีกคน และถ้าน้องอยากพบเจอตนก็สามารถเดินทางมาที่วัดร่องขุ่นได้ ซึ่งทราบว่า ด.ช.นันธรกรณ์ไม่มีเงินค่าเดินทางมาก ตนจะส่งเงินไปให้ 10,000 บาท ให้เดินทางมาหาตนได้เลย ไม่ต้องไปเรี่ยไร หรือขอจากคนในจังหวัด
“ถ้าน้องไอซ์อยากจะเจอลุง ลุงก็จะส่งเงินไปให้เพื่อให้เดินทางมาหาได้เลย อาจจะเป็นช่วงวันหยุด หรือปิดเทอม เมื่อมาหาแล้วลุงก็จะได้สอนวิธีการ และอื่นๆ ให้ เพราะสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะวาดภาพในแนวราบซึ่งอาจจะมีปัญหาหากว่าต้องวาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบที่เป็นแนวเอียง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นความถนัดของแต่ละคนเหมือนกัน” อาจารย์เฉลิมชัยกล่าว