xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ แจงยิบ! หลักสูตรครู ม.ราชภัฏโคราชไม่เถื่อน “คุรุสภา” รับรอง ชี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- อธิการบดีแจงยิบ! รมว.ศึกษาฯ หลักสูตรครู ม.ราชภัฏโคราชไม่เถื่อน ระบุคุรุสภารับรองถูกต้องทั้งภาคปกติและภาค กศ.ปช. เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2549 และคุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้มาโดยตลอด ชี้กรณีปัญหา นศ.รุ่น 15 ร้อง รมว.ศึกษาฯ เป็นเรื่องเข้าใจผิด จากกรณีคุรุสภามีมติให้นักศึกษา กศ.ปช.ทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าเรียนปี 2554 ใช้วิชาเรียนเทียบโอนความรู้เพื่อรับ “ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน” แทน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการของคุรุสภา คาด 1 เดือนเสร็จ ย้ำมหาวิทยาลัยช่วยเหลือ นศ.เต็มที่มาตลอด

วันนี้ (24 ก.ค.) รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) โครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (กศ.ปช.) รุ่นที่ 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เยียวยาจบการศึกษาแล้วไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเนื่องจากคุรุสภาไม่รับรองหลักสูตร เมื่อวันที่ 21 ก.ค.นั้น ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือรายงานชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

พร้อมทั้งขอแถลงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนและประชาชนดังต่อไปนี้ คือ กรณีการรับรองหลักสูตรนั้น นักศึกษาที่เข้าร้องเรียนเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2548) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองปริญญาจากคุรุสภา ทั้งภาคปกติและภาค กศ.ปช.ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2554 และคุรุสภาได้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้มาโดยตลอด

แต่ในรุ่นที่ 15 ปีการศึกษา 2554 คุรุสภาได้แจ้งว่า สำหรับนักศึกษา กศ.ปช.ที่เข้าเรียนปี 2554 ของทุกมหาวิทยาลัยให้ใช้รายวิชาที่เรียนเทียบโอนความรู้เพื่อขอรับ “ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการแจ้งทางโทรศัพท์เมื่อเดือนตุลาคม 2556 และเป็นช่วงที่นักศึกษากำลังเรียนในชั้นปีที่ 3

“ฉะนั้น ในเรื่องหลักสูตรที่บอกว่าไม่ได้รับการรับรองนั้นเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะได้รับการรับรองจากคุรุสภาอย่างถูกต้องและเปิดสอนมาหลายปีแล้ว คุรุสภาเองได้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้มาทุกรุ่น รวมทั้งรุ่นที่ 14 ล่าสุดด้วย แต่รุ่นที่ 15 ทางคุรุสภาได้แจ้งให้ใช้การเทียบโอนความรู้เพื่อขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งเป็นการแจ้งในช่วงที่นักศึกษาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 แล้ว และเรื่องนี้ทุกมหาวิทยาลัยก็ปฏิบัติเหมือนกันหมด” รศ.ดร.วิเชียรกล่าว

รศ.ดร.วิเชียรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเทียบโอนความรู้เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนสำหรับนักศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยและคณะครุศาสตร์ได้เตรียมการแก้ปัญหาไว้แต่แรกที่ได้รับแจ้งและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประชุมนักศึกษา กศ.ปช. รุ่นที่ 14 และรุ่นที่ 15 เพื่อเตรียมการให้นักศึกษาได้เรียนตามเกณฑ์คุณสมบัติในการเทียบโอน คือรายวิชาที่ต้องนำไปเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภาต้องได้ระดับคะแนนไม่ต่ำกว่าระดับ 2 หรือเกรด 2

โดยดำเนินการให้แก่นักศึกษา กศ.ปช. รุ่นที่ 14 ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งนักศึกษาภาค กศ.ปช. รุ่นที่ 14 คุรุสภาได้รับรองปริญญา และให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 2558 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับนักศึกษาภาค กศ.ปช. รุ่นที่ 15 ปีการศึกษา 2554 ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวกันกับนักศึกษารุ่นที่ 14 ปีการศึกษา 2553 แต่ตามมติคณะกรรมการคุรุสภาให้มีการเทียบโอนมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด เพื่อขอรับ “ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน” คณะครุศาสตร์และมหาวิทยาลัยได้ประชุมให้นักศึกษาทราบเพื่อเตรียมการเทียบโอนเนื้อหาความรู้กับสาระความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดในวันที่ 21 มีนาคม 2558 อีกครั้ง เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมการเกี่ยวกับรายวิชาที่ต้องนำไปเทียบโอน

โดยคณะครุศาสตร์ได้ประสานข้อมูลกับทางสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ซึ่งมีช่องทางติดต่อในการเตรียมการเทียบโอน ซึ่งคณะครุศาสตร์ได้แจ้งผ่านทางเว็บไซต์ของคณะครุศาสตร์ ได้แจ้งให้นักศึกษาทราบและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง คือ กำหนดการเรียน ตารางเรียน การลงทะเบียนเรียน ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเทียบโอน รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา วันที่ 28 พฤษภาคม 2559 คณะครุศาสตร์จัดประชุมเพื่อนัดหมายกำหนดการรับใบรับรองคุณวุฒิสำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 และแบบคำขอเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา โดยนัดหมายในวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2559

จากนั้น วันที่ 4 มิถุนายน 2559 คณะครุศาสตร์ได้จัดทำบันทึกขอเปิดเรียนกรณีพิเศษให้นักศึกษาภาค กศ.ปช. รุ่นที่ 15 สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาและที่มีรายวิชาที่ใช้ในการเทียบโอนเนื้อหาความรู้กับสาระความรู้วิชาชีพครูตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด ในระดับคะแนนต่ำกว่าระดับ 2 และมหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปิดเรียนในภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2558

วันที่ 27 มิถุนายน 2559 มหาวิทยาลัยได้มอบให้คณะครุศาสตร์ได้ประชุมนักศึกษาภาค กศ.ปช. รุ่นที่ 15 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับรองปริญญาจากคุรุสภา และแจ้งย้ำประเด็นถึงมติคณะกรรมการคุรุสภาที่ไม่ให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแก่นักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต/ศึกษาศาสตรบัณฑิตทุกมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2556 แต่ให้เทียบโอนความรู้ตามข้อบังคับคุรุสภา 9 มาตรฐาน เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน และตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไปคุรุสภาไม่อนุญาตให้เทียบโอน

รศ.วิเชียรกล่าวต่อว่า สำหรับมติของคณะกรรมการคุรุสภาที่แจ้งยกเลิกการให้การรับรองนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี) ภาค กศ.ปช. มหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากคุรุสภา ในที่ประชุมนักศึกษา ภาค กศ.ปช.ได้ขอความอนุเคราะห์ให้มหาวิทยาลัยจัดทำเอกสารการรับรองปริญญาทางการศึกษากรณีพิเศษเสนอคุรุสภาเพื่อพิจารณา และนักศึกษาก็ยินดียอมรับตามผลการพิจารณาดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดส่งเอกสารการรับรองปริญญากรณีพิเศษของนักศึกษา กศ.ปช. รุ่นที่ 15 ส่งให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นการเสนอรับรองปริญญาจากคุรุสภาเป็นครั้งที่ 3 แล้วของนักศึกษารุ่นนี้

วันที่ 16 กรกฎาคม 2559 มหาวิทยาลัยได้รับเอกสารแบบคำขอเทียบโอนจากนักศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำส่ง ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จำนวน 118 ราย และวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 มหาวิทยาลัยได้นำส่งเอกสารแบบคำขอเทียบโอน ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

“ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และขณะนี้นักศึกษา กศ.ปช. รุ่น 15 ของมหาวิทยาลัยก็อยู่ในขั้นตอนการรอผลการพิจารณาการเทียบโอนความรู้ตามที่คุรุสภากำหนด 9 มาตรฐาน เพื่อรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2559” รศ.ดร.วิเชียรกล่าว

รศ.ดร.วิเชียรกล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้พยายามดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษา กศ.ปช. รุ่น 15 ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเรียน การสอน การเปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษสำหรับกลุ่มที่เกรดไม่ถึงระดับ 2 เพื่อให้สามารถเทียบโอนความรู้ได้ตามเกณฑ์คุรุสภา รวมทั้งจัดทำดำเนินการรวบรวมเอกสารการขอเทียบโอนส่งคุรุสภาให้ทั้งหมดเพื่อขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งขณะนี้รอเพียงการพิจารณาของคุรุสภาเท่านั้น

ส่วนนักศึกษาที่มีปัญหาและร้องเรียนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เกรดไม่ถึง 2 จึงมีปัญหาในการเทียบโอนความรู้ ซึ่งมีไม่มาก

สำหรับ “ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน” กับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ที่เป็นเรื่องคุรุสภาโดยตรงนั้น ความจริงแล้วทั้ง 2 ใบแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะใบอนุญาตปฏิบัติการสอนก็สามารถใช้ในการสอน และใช้ในการสอบบรรจุครูได้เช่นกัน โดยมีอายุ 2 ปี ต่ออายุได้อีก 2 ปี แล้วสามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ หรือเมื่อสอบบรรจุครูได้แล้ว 1 ปีก็สามารถนำไปขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ ส่วนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีอายุ 5 ปี เมื่อหมดอายุก็ต้องขอต่อเช่นกัน ไม่ใช่ได้ถาวร

ต่อคำถามถึงกรณีที่ว่านักศึกษาต้องสูญเสียเงินและเสียเวลามาเรียนเพิ่มเติมอีก 1 ภาคเรียนเพื่อให้สามารถเทียบโอนความรู้ได้นั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดการเรียนพิเศษให้เรียบร้อยหมดแล้วไม่ต้องทำอีก ส่วนค่าใช้จ่ายเทียบโอนความรู้ 9 มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภาเพื่อขอรับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน 2,700 บาทนั้น ทางคุรุสภาได้จัดเก็บเหมือนกันหมดทุกกรณีอยู่แล้ว รวมทั้งการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก็จัดเก็บเช่นกัน รศ.ดร.วิเชียรกล่าวในตอนท้าย
(ซ้าย) ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา (ขวา) รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น