บุรีรัมย์-โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ร่วม จนท.ป่าไม้ ทหาร ตร.ประมง และอำเภอเข้าติดประกาศแจ้งให้ผู้บุกรุกเลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำนางรองที่เหลือ12 ราย เร่งรื้อย้ายกระชังปลา 254 กระชังออกจากพื้นบุกรุก หวั่นกระทบน้ำดิบผลิตประปาเน่าเสีย ยันรายใดเพิกเฉยเอาผิดตาม กม.
วันนี้ (13 ก.ค.) นายสุพัฒน์ ฤทธิชู ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายสรรเพ็ชร เรืองรอง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 (ลำนางรอง) นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ประมง และอำเภอโนนดินแดง เข้าติดประกาศแจ้งให้ผู้บุกรุกเลี้ยงปลากระชังเชิงธุรกิจในพื้นที่เขื่อนลำนางรอง ที่เหลืออีก 12 ราย จำนวน 254 กระชัง จากทั้งหมด 27 ราย 425 กระชัง ได้เร่งรื้อย้ายกระชังปลาออกจากพื้นที่บุกรุก
ทั้งนี้ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำนางรอง ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ ประกอบกับได้สิ้นสุดระยะเวลาการขออนุญาตเลี้ยงจากกรมประมงแล้วตั้งแต่ปี 2555
อีกทั้งทางการประปาจะมีการย้ายแหล่งน้ำดิบใหม่ จากอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว มาใช้น้ำดิบที่เขื่อนลำนางรองหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่ อ.โนนดินแดง และ อ.ละหานทราย เนื่องจากแหล่งน้ำดิบเดิมไม่เพียงพอกับปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มวันที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้ จึงเกรงว่าหากปล่อยให้เลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำนางรอง ว่าจะเกิดน้ำเน่าเสียกระทบต่อการผลิตประปา
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ผ่อนผันให้เพาะเลี้ยงปลากระชังมาเป็นเวลากว่า 7 เดือนตามข้อตกลงแล้ว โดยมีผู้บุกรุกยอมรื้อย้ายกระชังปลาออกเพียง 15 ราย 171 กระชัง แต่ยังเหลือ 12 รายที่ไม่ยอมรื้อย้ายออก เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าติดประกาศตามแพปลา และศาลากลางหมู่บ้าน เพื่อแจ้งให้ผู้บุกรุกรื้อย้ายกระชังปลาออก หรือนำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน
แต่หากครบกำหนดไม่นำเอกสารมาแสดง หรือไม่มีการรื้อถอนเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเข้ารื้อย้ายปลากระชังออก และผู้บุกรุกจะต้องรับผิดชอบค่าดำเนินการรื้อถอนทั้งหมดด้วย
นายสุพัฒน์ ฤทธิชู ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง กล่าวว่า การเลี้ยงปลากระชังในเขื่อนลำนางรองเป็นการบุกรุกพื้นที่ และปิดก้นทางน้ำไหล ทั้งเกรงว่าจะส่งผลกระทบทำให้น้ำในเขื่อนที่จะนำไปผลิตประปาเน่าเสีย จึงต้องให้ผู้บุกรุกรื้อย้ายออกกระชังปลาออกจากพื้นที่เขื่อน ซึ่งขณะนี้ทางเขื่อนได้แจ้งความตามขั้นตอนแล้ว หากรายใดฝ่าฝืนหรือเพิกเฉยจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
ด้าน นายสรรเพ็ชร เรืองรอง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ บร.5 กล่าวว่า หลังติดประกาศแจ้งให้ผู้บุกรุกทราบและปฏิบัติแล้ว หากยังเพิกเฉยไม่ยอมรื้อย้ายกระชังปลาออก จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องหาพื้นที่รองรับหรือเยียวยา เพราะเป็นการบุกรุกเลี้ยงในพื้นที่ป่าสงวนทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจ